สรุปเรื่อง Startup จาก page “สรุป”

Page สรุป อธิบายธรรมชาติของธุรกิจ Startup ไว้ดีมาก
ควรค่าแก่การตามไปอ่านมากๆ โดยเฉพาะผู้สนใจเรื่องของ Startup
รายละเอียดดังด้านล่างเลยครับ ….

……………………………………………………………………………………..

‪#‎สรุป‬ Startup ที่ใครๆก็พูดถึง มันคืออะไร ทำไมต้อง Start แล้วเกี่ยวอะไรกับน้องสต๊อปด้วยมั้ย แล้วมันต่างกับการทำธุรกิจแบบอื่นตรงไหน อะไรยังไง ตามกันใน ‪#‎สรุปเดียว‬

startup-slider-2

โพสนี้แอดต้องการเล่าถึงว่าสตาร์ทอัพคืออะไร เส้นทางชีวิตสตาร์ทอัพเป็นยังไง รวมถึงคำเฉพาะต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพได้เห็นภาพง่ายๆนะจ๊ะ

1. ช่วงไม่กี่ปีมานี้มีกระแสการทำธุรกิจแบบหนึ่งที่ถูกพูดถืงกันบ่อยๆ ทั้งรูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงอัตราการเติบโตที่ร้อนแรงดังกับไฟเยอร์ กลายเป็นกระแส “Startup” ที่มีจุดเริ่มต้นจากซิลิกอน วัลเลย์ ในอเมริกา แล้วแพร่หลายไปทั่วโลก จนมาถึงไทย

2. เรามาเริ่มกันที่ว่า “Startup” คืออะไรก่อน ซึ่งตรงนี้แต่ละคนก็มีนิยามที่แตกต่างกันไป ถ้าเอาตามนิยามของ Thailand Tech Startup Association เนี่ย มันคือ “SMEs แบบหนึ่งที่ใช้ Technology มาแก้ปัญหา และถูกออกแบบมาให้ Scale และ นำมาใช้ซำ้ได้” หรือป๋า Paul Graham เจ้าของ VC ระดับโลกบอกว่า “Startup คือบริษัทที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จบ” ป๋าไม่สนว่าเอ็งจะใช้เทคโนโลยีหรือเปล่า ขอให้โตได้เร็วๆถือว่าโดนใจป๋า

3. อย่างถ้าเราทำรถเข็นขายหมูปิ้ง แล้วลงทุนสร้างรถเข็นเพิ่มไปเรื่อยๆ กิจการก็เติบโตไปตามจำนวนเงินลงทุนและรถเข็นที่เพิ่มขึ้น แบบนี้ฝรั่งเรียกว่าเติบโตแบบ “Growing” ยังไม่เรียกว่าเป็น Startup นะจ๊ะ

4. แต่แทนที่จะขายหมูปิ้งเอง เกิดเราทำแอพ MooPing ให้คนสามารถสั่งหมูปิ้งล่วงหน้าได้ แล้วจับคู่กับพ่อค้าขายหมูปิ้งที่อยู่ใกล้ๆ ที่ทำงานหรือบ้านคนสั่ง พ่อค้าหมูปิ้งรับออเดอร์ผ่านแอพ และจ่ายเงินผ่านแอพ พอทำเสร็จคนก็เข้ามาดาวน์โหลดไปใช้ จนใครๆก็นิยมมาสั่งหมูปิ้งผ่านแอพของเรา พ่อค้าก็อยากขายหมูปิ้งผ่านแอพนี้ เราแค่ลงทุนลงแรงทำแอพตัวเดียว แต่กลายเป็นตัวแทนขายหมูปิ้งได้ทั่วประเทศ จะขยายไปประเทศอื่นก็ไม่ยาก เป็นการเติบโตที่สามารถขยายขนาดได้ด้วยต้นทุนนิดเดียว เราเรียกว่า “Scaling” อย่างนี้สิที่เรียกว่าเป็น Startup

5. จุดสำคัญที่สตาร์ทอัพต่างจากธุรกิจแบบเดิมๆ คือมันอาศัยโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆเข้ามาแย่งชิงตลาดของธุรกิจเดิม หรือบางครั้งถึงขั้นทำลายล้างรูปแบบเดิมไปตลอดกาล เช่นสมัยก่อนเราจะไปเที่ยวจะจองโรงแรมจองตั๋วเครื่องบิน ก็ต้องไปติดต่อเอเจนท์หรือบริษัททัวร์ ให้พวกนั้นจองให้ แต่สมัยนี้เราสามารถจองโรงแรม หรือหาตั๋วถูกๆผ่านเว็บได้เอง เว็บไซต์พวกนี้แหละที่เข้ามาแย่งชิงและทำลายตลาดของพวกเอเจนท์แบบเก่าๆ หรือที่เรียกกันว่าเกิดการ “Disruption”

6. ฟังดูโคตรเท่ใช่มะ เพราะบริษัทอย่าง Google Facebook Twitter Uber Alibaba นี่ก็เคยเป็นสตาร์ทอัพกันมาก่อน และอาศัยเทคโนใหม่ๆ โมเดลธุรกิจใหม่ๆสร้างตัวจนเป็นระดับพันล้านเหรียญได้ (สตาร์ทอัพระดับพันล้านในวงการจะมีชื่อเล่นเรียกว่า “Unicorn” หรือม้ามีเขาในตำนาน) ก็เพราะมันเติบโตได้เร็วและแรงแบบนี้แหละ ทำให้คนรุ่นใหม่แห่มาทำสตาร์ทอัพกัน

7. แล้วถ้าเราจะทำสตาร์ทอัพบ้างจะเริ่มยังไงดีล่ะ กลัวไปไม่เป็น แบบว่ามีไอเดียเจ๋งๆแต่ไม่เคยทำธุรกิจ ก่อนอื่นก็เริ่มจาก “ไอเดีย” นั่นแหละ ซึ่งไอเดียนั้นต้องตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาบางอย่างให้คนทั่วไปได้ เช่น Grab แก้ปัญหาแท๊กซี่ไม่ยอมรับผู้โดยสาร Builk Thailandคนทำไวรัลเจ๊จู แหล่งรวมผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็แก้ปัญหาเรื่องผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือWashBox24 ก็ช่วยให้การส่งซักรีดเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา ไรงี้เป็นต้น

8. แต่มีไอเดียอย่างเดียวมันไม่พอ เพราะบางทีไอเดียที่เราคิดว่ามันเจ๋ง ทำจริงๆ มันอาจจะไม่เวิร์ก หรือยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข ไหนจะต้องคิดว่าจะทำกำไรจากไอเดียนี้ได้ยังไง เช่นแอพ MooPing ของเรา เราจะหักส่วนแบ่งจากพ่อค้าหมูปิ้งดีมั้ย เท่าไหร่ดี จะนำเสนอ value อะไรดีให้คนอยากซื้อเยอะๆ ต้อง partner กับใคร ต้องใช้ resource อะไรบ้าง ทีนี้เราอาจจะไปหาพี่เลี้ยง หรือ “Advisor” ซึ่งอาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆหรือคนที่เคยทำสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จมาก่อน ให้มาช่วยแนะนำ

9. หรืออาจจะเดินเข้าไปหาหน่วยงานหรือองค์กรที่คอยช่วยฟูมฟักตั้งไข่ให้สตาร์ทอัพในช่วงแรกๆ พวกนี้คือ “Incubator” หรือศูนย์บ่มเพาะ ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมาช่วยแนะนำแนวทางให้เราพัฒนาไอเดียจนกลายเป็นธุรกิจได้จริง หรือว่าอาจจะไปนั่งเรียนที่Wecosystem : School of enterpreneurs หรือ Disrupt University เพื่อเรียนรู้การทำธุรกิจอย่างเป็นระบบก็จะยิ่งดี

10. เอาล่ะ ไอเดียเราเข้าที่เข้าทางละ แผนธุรกิจทำเงินก็เริ่มเป็นรูปร่าง แต่จะทำธุรกิจมันต้องมีเงินลงทุน จะเอาเงินจากไหนล่ะ ส่วนใหญ่ก็เริ่มจากตัวเองกับคนรอบๆ เช่นครอบครัวหรือเพื่อน ก็อาจจะได้มาหน่อยนึง ซึ่งมันอาจจะไม่พอ ก็จะมีคนมีตังค์กลุ่มนึงซึ่งเป็นนักลงทุนอิสระ พวกนี้จะชอบสนับสนุนเงินทุนให้คนทำสตาร์ทอัพในระยะเริ่มแรกด้วยเงินตัวเอง เรียกกันว่า “Angel Investor” โดยเราต้องเอาไอเดียกับแผนธุรกิจไปนำเสนอให้คนกลุ่มนี้ฟังก่อน เรียกว่าการทำ “Pitching” ซึ่งในขั้นตอนนี้เราอาจจะมีตัวโปรดักต์ต้นแบบไปโชว์ด้วยก็ได้ ถ้ายังไม่มีก็คุยไอเดียไปก่อน ถ้าเขาสนใจก็จะให้เงินทุนเรามาแลกกับหุ้นบางส่วนในธุรกิจของเรา เรียกการระดมทุนในช่วงนี้ว่าขั้น “Seed” หรือบางคนอาจจะเรียก “Pre-Seed”

11. ทางเลือกการหาเงินทุนอีกแบบหนึ่งก็คือ “Crowdfunding” ซึ่งเป็นการระดมเงินจากคนทั่วๆไปในอินเตอร์เนตที่ชื่นชอบแนวคิดหรือสินค้าของเรา โดยอาจจะมีข้อตอบแทนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราจะสร้าง หรือบางทีก็เป็นหุ้น อย่างของไทยก็มี TaejaiDotCom ที่เน้นระดมทุนแบบให้เลยไม่ต้องมีอะไรตอบแทน หรือ Dreamaker Crowdfunding กับ MEEFUNDที่ตอบแทนด้วยของหรือบริการ หรือ Dreamaker Equity Crowdfunding ที่ให้เป็นหุ้นบริษัทเลย

12. เอาล่ะ สมมติว่าได้เงินมาละ ก็ต้องเอาเงินนี่ไปทำธุรกิจจริงๆ ไม่ใช่เอาไปใช้สุรุ่ยสุร่ายตามใจฉันได้นะเธอ ใครคิดจะเอาไปแต่งออฟฟิศใหม่ หรือจ้างเลขาสาวสวยหมวยอึ๋ม เลิกคิดได้ คนทำสตาร์ทอัพต้องใช้เงินลงทุนทุกบาทอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนไหนไม่จำเป็นก็ตัด อย่างเช่นออฟฟิศเนี่ย เราอาจจะลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้ระบบแชร์พื้นที่ออฟฟิศ หรือ “Co-Working Space” ให้เราสามารถเช่านั่งทำงานร่วมกันได้ เป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน มีโต๊ะเก้าอี้ เนท ปลั๊กไฟ น้ำชากาแฟ ห้องประชุมครบเลย แล้วพอมีหลายๆคนหลายๆสตาร์ทอัพมาใช้ ก็เลยเกิดเป็นชุมชนเล็กๆ ให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้คอนเนกชั่นใหม่ๆด้วย ที่คนนิยมกันก็อย่างเช่น HUBBA อยู่ BTS เอกมัย Ease Cafe&CoWorking Space อยู่ BTS อารีย์ Launchpad อยู่ถนนปั้นสาทร Punspace ที่เชียงใหม่

13. พอมีเงินมีที่ทำงาน แถมบางทีได้ทีมงานมาเพิ่มด้วย บางรายก็อาจจะไปเข้าหลักสูตรเร่งรัด หรือ “Accelerator” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดโดยบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการช่วยให้สตาร์ทอัพได้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ไวขึ้น โดยจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญระดับเทพ ประสบการณ์ระดับสูง มาช่วยดูแผนงานและปรับปรุงให้ธุรกิจโตได้ไวขึ้น ของไทยที่ดังสุดก็เห็นจะเป็น dtac Accelerate ที่เพิ่งปิดรับ Batch 4 ไป หรือ AIS The Startup ที่ปีนี้เปลี่ยนไปเน้นต่อยอดให้สตาร์ทอัพ

14. พอโปรดักต์เราได้ออกสู่สายตาชาวโลก เริ่มมีคนเข้ามาใช้มากขึ้น ก็เริ่มมีรายได้เข้ามา หรือเรียกรวมๆ ว่าเริ่มมี “Traction” ละ บางทีก็จะมีคำติชมคำแนะนำจากลูกค้ามาบ้าง แก้บั๊ก เพิ่มฟีเจอร์ จ้างคนเพิ่ม ทำการตลาด แล้วต้องลงทุนขยายธุรกิจต่อไป ถ้าเป็นธุรกิจแบบเดิมๆ ก็ต้องสะสมกำไรเอามาลงทุนต่อ หรือไปขอกู้แบงค์ (ซึ่งบางทีก็กู้ยากชิบ) สำหรับสตาร์ทอัพซึ่งเน้นการโตอย่างรวดเร็วคงรอไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็จะไประดมทุนรอบใหม่ ซึ่งพอเป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้น ก็อาจจะไปคุยกับ “Venture Capital” หรือ “VC” ซึ่งเป็นกองทุนที่อาจจะระดมเงินมาจากคนอื่นมาลงทุน อย่างเช่น InVent หรือ 500 Startups (บาง VC ก็ลงให้ตั้งแต่ Seed นะ)

15. ในการระดมทุนรอบใหม่นี่ก็แบ่งเป็นขั้นต่างๆอีกตามเป้าหมายและขนาดทุน เช่นถ้าระดมทุนมาพัฒนาปรับปรุงโปรดักต์ให้ดีขึ้นเพื่อตีตลาดให้ใหญ่ขึ้น และมองหาผลกำไรระยะยาว ก็เรียกว่ารอบ “Series A” ซึ่งอาจจะได้เงินมาซัก 2 -15 ล้านเหรียญ แล้วพอโปรดักต์เริ่มนิ่ง ก็จะเน้นที่การขยายตลาดเพื่อกินส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น รวมถึงขยายทีมให้รองรับการขยายตัว ก็เรียกการระดมทุนในรอบนี้ว่า “Series B” ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ประมาณ 7 – 10 ล้านเหรียญ อย่างตอน InVent ลงทุนใน Ookbee ในปี 2012 ก็เป็นการลง Series Aให้ไป 2 ล้านเหรียญ ได้หุ้น 25% และตอนนี้ Ookbee อยู่ในขั้น Series B ละ

16. ส่วน “Series C” คือการเร่งการเติบโตครอบครองตลาดส่วนใหญ่ การขยายไปตลาดโลก หรือไปซื้อธุรกิจอื่นมาเสริมทัพ คราวนี้ต้องใช้เงินลงทุนระดับหลายร้อยล้านเหรียญกันเลยทีเดียว ซึ่งระดับบิ๊กๆ แบบนี้ก็จะมีกองทุนการเงินตัวโหดๆ ของโลกมาเล่นด้วย อย่าง Morgan Stanley ที่ลงทุนใน Dropbox หรือ Goldman Sachs ที่ลงใน Qubit บริษัทที่ทำด้าน big data ส่วนของไทยก็มี 2C2P ที่เติบโตมาถึง Series C แล้ว แล้วก็ไม่ใช่มีแต่รอบเพิ่มขึ้นเท่านั้น บางบริษัทที่ระดมทุนไปแล้วแต่ธุรกิจขยายไปไม่ถึงดวงดาวจนเงินหมดต้องมาระดมทุนอีก คราวนี้มูลค่าบริษัทและราคาหุ้นจะลดลง แบบนี้เรียกว่ารอบ “Down Round”

17. เอาล่ะ สมมติว่าเราทำ Startup จนประสบความสำเร็จ ธุรกิจเติบโต ได้รับเงินทุนมาจนมีมูลค่าสูง แล้วจะยังไงต่อดี ก็ต้องไม่ลืมว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะ “เงินลงทุน” ของผู้มีพระคุณทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนและครอบครัว Angel Investor รวมถึง VC ซึ่งส่วนใหญ่ก็ลงทุนเพราะหวังทำกำไรจากมูลค่าของธุรกิจที่เติบโต ณ จุดนี้ก็จะมีการคุยกันว่า “แล้วจะเอาทุนคืนพร้อมกำไร” หรือไปต่อกันยังไง ภาษาสตาร์ทอัพเรียกว่าการ “Exit”

18. ทางเลือกหลักๆ ของ Startup ส่วนใหญ่ก็มี 2 อย่าง ทางแรกคือ เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ และอีกทางคือ ขายธุรกิจให้บริษัทอื่นที่สนใจซื้อ (Acquisition) ซึ่งไม่ว่าทางไหนก็จะเป็นช่องทางให้คนก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนสามารถขายหุ้นออกมาบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อเป็นการคืนกำไรกลับสู่ผู้มีพระคุณของเรานั่นเอง อย่าง wongnai.com บอกว่าจะไม่ระดมทุนละ รอเข้าตลาดเลย Computerlogy มีบริษัทเกาหลีมาซื้อไป หรือ Lazada ที่ขายให้ Alibaba พันล้านเหรียญ

‪#‎สรุป1‬ จะเห็นได้ว่าการทำสตาร์ทอัพก็คือการทำธุรกิจทั่วไปนี่แหละ เรื่องการขอเงินจากนักลงทุน หรือการถูกบริษัทใหญ่กว่าซื้อไป การเข้าตลาดหลักทรัพย์ มันก็มีมาตั้งนานแล้ว ก่อนนี้เราอาจจะเรียกมันว่า ธุรกิจส่วนตัว, Entrepreneur, SME หรืออะไรก็ว่าไป อนาคตก็คงมีคำใหม่ๆ มาเรียกแทนสตาร์ทอัพ แต่ยังไงก็หนีไม่พ้นหลักการพื้นฐานว่า ของต้องดี ทีมงานต้องเก่ง การ Execute ไอเดียต้องเยี่ยม และที่สำคัญคือต้องมีหนทางในการสร้างรายได้และกำไรที่ชัดเจน ไม่งั้นก็เจ๊งได้เหมือนธุรกิจอื่นๆ น่ะแหละ

‪#‎สรุป2‬ ในไทยก็มีการตื่นตัวเรื่องการทำสตาร์ทอัพมาก แม้แต่ภาครัฐก็เข้าร่วมวงสนับสนุนเพื่อเป็นประเทศไทย 4.0 แอดมินก็ยังรู้สึกก้ำกึ่งนะ ดีน่ะดีแหละที่รัฐสนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ ให้เงินมาทำยิ่งชอบเลย แต่ปัญหาคือรัฐยังมองการสนับสนุนในกรอบคิดของการทำธุรกิจแบบเดิมๆ คือ ให้เงินกู้-จัดงาน-หาตลาด แล้วตั้งเป้าว่าต้องสร้างผู้ประกอบการได้หมื่นราย ไรงี้ เหมือนกับเอาอะไรที่มีอยู่แล้วมายำๆเข้าด้วยกันแล้วหวังจะให้มัน Fit กับโมเดลการเติบโตแบบใหม่ๆ จริงๆสิ่งที่รัฐควรคือปรับวิธีคิดของการสนับสนุนและกฎหมายระเบียบข้อบังคับต่างๆให้คนเก่งๆทั้งในและต่างประเทศอยากมาเล่นในไทยมากกว่า เช่นออกนโยบายภาษีที่จูงใจนักลงทุน ออกวีซ่า work permit ให้เดเวลอปเปอร์เทพๆจากต่างประเทศมาทำงานในไทยได้สะดวกขึ้น หรือ ผ่านกฎหมายการถือหุ้นให้แบ่งหุ้นให้พนักงานได้ง่ายขึ้น ไรงี้จะดีกว่า

‪#‎สรุป3‬ มีคนบอกว่าสตาร์ทอัพตอนนี้มันเฟ้อแล้ว มันเป็นฟองสบู่ ใกล้จะแตกแล้ว ก็ต้องยอมรับแหละว่ากระแสความร้อนแรงมันเริ่มลดลง เพราะก่อนหน้านี้มีคนไปเร่งปั่นมูลค่าจนบางธุรกิจก็ดูแพงเกินจริง หรือไม่น่าได้เงินลงทุนมากขนาดนั้น อาจจะเพราะนักลงทุนหน้าใหม่เองก็กลัวตกขบวนเลยแห่มาลงทุนตามกระแสด้วย แต่ๆๆๆ แอดอยากบอกว่า “ช่างแม่งเหอะ” อย่าไปสนใจเรื่องฟองสบู่มันจะแตกหรือไร อย่าลืมว่าสตาร์ทอัพมันก็คือธุรกิจอย่างนึง โฟกัสที่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีและตอบโจทย์ ให้ลูกค้าชอบใช้จนขาดมันไม่ได้ มีโมเดลธุรกิจที่ดี เน้นการสร้างรายได้และกำไรแบบต่อเนื่องและยั่งยืน ที่เหลือก็ประเมินธุรกิจตามความเป็นจริง และเตรียมแผนรองรับวิกฤตไว้หลายๆทาง แค่นี้ก็อยู่รอดแล้ว

‪#‎สรุป4‬ อันนี้แถมหน่อย พักหลังมันจะมีคนบอกว่าจะชวนไปทำสตาร์ทอัพซึ่งดูยังไงมันก็ออกแนวขายตรงชัดๆ อันนี้แอดก็เจอมากะตัว (ระหว่างเขียนโพสนี้ยังมีโทรมาชวนเลยสัส) ถ้าใครเจอแนวนี้ก็ดูให้ดีละกัน อย่าเพิ่งไปเคลิ้มกับศัพท์ใหม่ๆ จนกลายเป็นเหยื่อนะเธอ แอดเป็นห่วง

Credit : เพจ #สรุป : https://www.facebook.com/in.one.zaroop/posts/1717280151880467?fref=nf