โคโรน่าไวรัส (Corona Virus 2019) กับ บทเรียนการระบาดของซาร์ส และเมิร์ซ (SARS-CoV และ MERS-CoV)

วันที่เขียนคือ วันที่ 25 มกราคม 2020 ในช่วงวันที่อยู่ระหว่างคนไทยส่วนใหญ่ต้องทุกข์ระทมกับภาวะหมอกควัน pm 2.5 อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วมเดือน ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อ Corona Virus จากเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ประเทศจีน ก็เป็นหนึ่งในข่าวที่คนไทยให้ความสนใจไม่น้อยเลย ด้วยเพราะพบผู้ติดเชื้อในประเทศเราเองถึง 4 ราย และที่ทำคัญเมืองอู่ฮั่นซึ่งมีนักท่องเทียวมาเที่ยวไทยกันเยอะก็ถึงกับประกาศปิดเมืองเพื่อกันการแพร่ระบาดของคนไข้ไปสู่วงกว้าง ซึ่งข้อมูลล่าสุดจาก WHO พบว่าปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้วทั่วโลก 846 ราย และเสียชีวิตแล้ว 25 ราย
.

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการระบาดของ Corona virus มาสู่คน เคยมีการระบาดของเชื้อในตระกูลนี้ครั้งใหญ่มาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดในปี 2002 ภายใต้ชื่อกลุ่มอาการว่า SARS เริ่มต้นจากในประเทศจีน และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2012 ภายใต้กลุ่มอาการว่า MERS ที่เริ่มต้นจากการติดเชื้อในประเทศตะวันออกกลาง
.

การระบาดครั้งนั้นมีบทเรียนมากมายให้ลองกลับไปศึกษา (ถึงขนาดเอาไปทำเป็นหนังดูก็คงจะดูสนุก แต่ติดที่มันคือเรื่องจริงที่มีผู้เสียชีวิตในเรื่องนี้มากมาย) อาจนำเรื่องนี้มาเทียบเคียงกับมาตรการที่พวกเรากำลังใช้รับมือกันอยู่นี้และอาจนำไปคิดต่อยอดในสิ่งที่เราน่าจะพอทำต่อไปได้
.
#CoV คือ เชื้อโคโรน่าไวรัส (Corona virus) ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลเดียวกันกับ SARS และ MERS โดยเชื้อชุดที่กำลังระบาดในปัจจุบันมีแค่ชื่อที่เรียกว่า #nCoV หรือ 2019 novel corona virus หรือไวรัสโคโรน่าใหม่ปี 2019 ที่เรายังไม่เข้าใจมันดีและกำลังศึกษาลักษณะการก่อโรคของมันอยู่

เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทั้งสาม เป็นเชื้อไวรัสแบบ ssRNA หรือ Single Strand RNA คือ ขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวน ด้วยการสอดเส้น RNA เข้าไปในเซลล์เหยื่อ เหมือนกับทำให้เหยื่อกลายเป็นโรงงานผลิตลูกหลานให้เลยทีเดียว
.

ภาพ Corona Virus ถ่ายด้วยกำลังขยายเกือบ 3 แสนเท่า


หากเมื่อถ่ายรูปซูมใกล้ๆ จะพบว่ามีหน้าตาคล้ายๆ มงกุฎ (Corona แปลว่ามงกุฎ) พี่น้องตระกูลนี้มักชอบทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเป็นหลัก
.

ลักษณะของ DNA Virus
ลักษณะของ DNA Virus (ต่อ)
ลักษณะของ Single Strand RNA (Corona Virus อยู่ในกลุ่มนี้)

#SARS ย่อจาก Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลัน

#MERS ย่อจาก Middle East Respiratory Syndrome หรือ กลุ่มอาการทางเดินหายใจที่เกิดในแถบตะวันออกกลาง
.

#SARS เข้ามาในปี 2002 เกือบ 20 ปีมาแล้ว เริ่มต้นในจีนแล้วกระจายไปกว่า 30 ประเทศ อาการเริ่มต้นคือไข้สูง ไอ หายใจลำบาก นำคนไข้ไป X-ray แล้วเหมือนเป็นปอดบวม มีการระบาดหนักเริ่มกระจายตัวจากคนในครอบครัวและคนที่ทำหน้าที่ดูแลคนไข้ ใช้เวลาฟักตัวไม่กี่วัน นานสุดไม่เกิน 10 วันก็เกิดอาการ

ตอนนั้นพบคนเป็น SARS กว่า 8 พันราย ซึ่งเป็นแล้วตายถึงร้อยละ 10

เค้าสันนิษฐานว่าแหล่งของไวรัสมาจากตลาดสดในจีนที่เอาสัตว์ป่ามาขายเป็นอาหาร ทั้งค้างคาว อีเห็น ซึ่งเชื้อพวกนี้ถ่ายทอดกันในสัตว์กันเองอยู่แล้ว แต่เพิ่งพบว่ามันติดมาสู่คนได้ด้วย บางครั้งการติดระหว่างสัตว์นั้นมันไม่ตาย แต่พอกระโดดเข้ามาในคนแล้วร้ายกาจเหลือหลาย
.

SARS ตอนนั้นพบว่าเชื้อทนไม่เบา คือ มันอยู่ได้ที่อุณหภูมิห้องได้ถึง 2 วัน และยาวได้ถึง 4 วันในอุจจาระ เรารู้จักหน้ากาก N95 ครั้งแรกๆ ก็ตอนนั้นแหละเพราะเค้าแนะนำว่ามันกันเชื้อได้ แหล่งกระจายเชื้อได้ดีตอนนั้นคือในโรงพยาบาลเลย ซึ่งรวมไปถึงแหล่งที่คนอยู่กันกระจุกตัว เช่น โรงแรม อพาทเม้นท์ในฮ่องกง อัตราการติดสูงถึง 50% เลยทีเดียว
.

พูดถึงการรักษา ตอนนั้นไม่ได้มียาอะไรรักษาเป็นการเฉพาะ ถึงแม้ว่าจะมียาฆ่าเชื้อไวรัส #Ribavirin ความเข้มข้นสูง (เป็น Nucleosid inhibitor ไปยับยั้งการสร้าง RNA ของไวรัส) แต่ก็ไม่ได้รักษาเชื้อนี้เป็นการจำเพาะ (ยาตัวนี้มียาสามัญแล้ว องค์การเภสัชไทยก็ผลิตได้) มีการใช้คู่ Protease inhibitor (ใช้ในการรักษา HIV) บ้าง ซึ่งเห็นผลดีขึ้นในคนไข้ นอกจากนั้นก็รักษาตามอาการ เช่น ให้ Corticosteroids ช่วยลดผลของ cytokine ในการทำลายปอด มีรายงานบ้างว่าการให้ interferon ช่วยยับยั้งไวรัสในหลอดทดลองได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีงานวิจัยทางคลินิกชัดเจน
.

สุดท้ายในตอนนั้น เค้าไปพบสารต้านภูมิคุ้มกันในเลือดคนไข้ หรือ Neutralizing Antibody (NAb) มันผลิตมาจากเม็ดเลือดขาว จะทำหน้าที่ไปจับกับเชื้อทำให้เชื้อกระจายตัวไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นเค้าก็เอาเชื้อที่หมดฤทธิ์แล้วนี่แหละไปทำเป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน ทำให้ป้องกันเคสใหม่ได้ ซึ่งพอรวมกับมาตรการกักกันโรค และการช่วยผู้ป่วยตามอาการ ก็ทำให้เราเอาชนะ SARS ในตอนนั้นมาได้ (มนุษย์เรานี่โครตเก่งเลย)
.

วิธีการแทรกสอดตัวเองเข้าไปในเซลล์ของเหยื่อโดย Corona Virus ซึ่งวิธีรักษาก็โดยการให้ยายับยั้งการสร้าง RNA ใหม่ และการให้ยายับยั้งการสร้างโปรตีนที่จะเป็นส่วนประกอบของเซลล์ลูกหลานใหม่ของไวรัสไปด้วยกัน

ส่วน #MERS ที่แปลตามชื่อว่าโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ตอนนั้นเค้าเจอเชื้อจากเสมหะของชายชาวซาอุ ช่วงกลางปี 2012 (คือ 10 ปีต่อมา) ซึ่งชายคนนี้ต่อมาตายเพราะอาการปอดบวมและไตวาย แล้วก็เจอในอีกหลายประเทศในแถบนั้น ซึ่งกลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่พบที่เกาหลีใต้หลังจากที่มีคนไข้เดินทางกลับจากพื้นที่นั้น ทำให้เกิดระบาดมีคนไข้ติดเกือบ 200 คน ใน 16 โรงพยาบาลภายใน 4 สัปดาห์
.

เวลาผ่านไปจนถึงปลายปี 2016 มีคนติดเชื้อ MERS ไปเกือบ 2,000 ราย และตายไป 600 กว่าคน (อัตราการตายสูงถึง 1 ใน 3 ซึ่งสูงกว่า SARS เยอะมาก)
.

สาเหตุของ MERS ตอนนั้นก็ยังไม่แน่ชัด แต่เค้าไปทำการสำรวจย้อนกลับ เค้าไปพบ Antibody หรือ สารต้นภูมิคุ้มกันในอูฐหนอกเดียว ก็เลยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการติดมาจากอูฐสู่คน ซึ่งเอาจริงแล้วคนกับอูฐก็อยู่ร่วมกันมานานแล้ว และเค้าก็สันนิษฐานว่า MERS น่าจะมีมานานแล้วตั้งแต่ในช่วยปี 1980’s ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เรายังคงเจอผู้ป่วยโรค MERS อยู่เลย
.

เรื่องของยาก็คล้ายๆ กัน คือ มีการใช้ interferon ร่วมกับ Ribavirin, Protease inhibitor ซึ่งก็เชื่อว่าให้ผลดีในคนไข้ แต่อย่างไรก็ดีการใช้มาตรการกักกันคนไข้ที่พบอาการไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด และรักษาตามอาการก็มีความจำเป็น
.

บทเรียนจากทั้งสองกลุ่มอาการ ซึ่งเป็นพี่น้องอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อ Corona Virus (2019-nCoV, Novel Corona Virus) ที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในปัจจุบัน น่าจะพอเป็นข้อมูลกรณีศึกษาที่สำคัญเพื่อที่จะใช้ทบทวนว่า มาตรการที่เราเองทำ ที่ภาครัฐทำ และหน่วยงานสาธารณสุขระหว่างประเทศทำอยู่ในวิสัยที่เหมาะสมหรือไม่ มีทิศทางอย่างไร
.

บทเรียนจากทั้งสองโรคทำให้เห็นว่าการกักกันพื้นที่ระบาดมีความสำคัญ การให้การรักษาผู้ที่ติดโรคอย่างเร่งด่วนก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดตายได้ ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกคนจะต้องตาย ภูมิคุ้มกันของเราเองมีความสำคัญไม่น้อย ดังนั้นให้หมั่นรักษาร่างกายตนเองให้พร้อมทุกสภาวะหากติดเชื้อจริงๆ ก็มีโอกาสที่ภูมิคุ้มกันจะสามารถช่วยให้เอาตัวรอดได้ (สภาวะร่างกายที่สมบูรณ์ย่อมเป็นต้นทุนที่สำคัญ)
.

และที่สำคัญสุดในเรื่องนี้คือ การรู้จักป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ทั้งด้วยการไม่นำตัวเองไปอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยง เมื่ออยู่ในที่ชุมชนก็ให้พยายามใช้หน้ากากป้องกัน ให้รักษาสุขอนามัยส่วนตัวให้ดี กินช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหรือต้องใช้มือสัมผัสร่างกายตนเองเช่นใบหน้า ดวงตา หรือ บริเวณอื่นๆ
.
มีคำถามว่า แล้วฝั่งด้านยารักษา เรากำลังทำอะไรกับมันอยู่มั๊ย ตอบได้ว่าในปัจจุบันทีมงานนักวิจัยจากหลายประเทศกำลังศึกษามันอยู่ และด้วยการที่เราเองเคยมี platform หรือ รูปแบบที่เคยใช้รับมือกับ SARS และ MERS มาก่อน เราน่าจะสามารถเลือกใช้ยารักษาได้แม่นยำขึ้น และอาจสามารถผลิตวัคซีนมาใช้สกัดการระบาดได้ทันท่วงเวลา แต่ทั้งนี้กระบวนการวิจัยด้านยาเองก็ต้องใช้เวลา ใช้สัตว์ทดลอง ใช้อาสาสมัคร ซึ่งก็ต้องทำงานแข่งกับเวลาไม่น้อยเลยทีเดียว
.

เชื่อว่าเราน่าจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ และขอให้ 2019-nCoV กลายเป็นเพียงกรณีศึกษาที่สำคัญในวงการแพทย์ที่มีการยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไม่มากเกินไปกว่าที่ WHO รายงานในวันนี้เลย

วิรุณ
เสาร์ 25 มกราคม 2563

รูปประกอบ : de Wit F., van Doremalen N., Falzarano D., Munster V.J. SARS and MERS: recent insights into emerging coronaviruses. Nat Rev Microbiol 2016; 14[8]:523–534