Update สถานการณ์ 2019-nCoV กันแบบเร็วกว่าสื่อ ที่หน่วย Data Science ของ Johns Hopkins

หน่วย CSSE (Center for Systems Science and Engineering) แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (2019-nCoV) แบบ update กันทุก 12 ชั่วโมง (อนาคตอาจถี่กว่านั้น ขึ้นกับสถานการณ์)

โดยรวบรวมข้อมูลมาจากทั้ง WHO, CDC, NHC and Dingxiangyuan ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่ถึงแม้จะไม่เร็วเท่ากับรายงานในท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ (ตามข้อมูลนี้เวลา 10 โมงเช้า ไทยมีคนไข้ 7 ราย แต่ปัจจุบันตอน 4 โมงเย็นพบเป็น 8 รายแล้ว) แต่โดยภาพรวมทั้งหมดแล้วถือว่าประมวลผลได้เร็วมากๆ

หน่วยฯ ได้รวบรวมข้อมูลรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสและทำ visualization ให้อ่านผลได้ง่าย ใครเห็นก็เข้าใจได้เร็ว
——————–

ข้อมูล ณ วันที่ 25/01/2020 เวลา 10 pm EST (10 โมงวันอาทิตย์บ้านเรา)
.
– ยอดผู้ติดเชื้อปัจจุบัน 2,019 ราย (จีน 1,979 ราย ไทย 7 ราย)
– ยอดผู้เสียชีวิต 56 ราย (ทั้งหมดอยู่ในจีน คิดเป็นร้อยละ 2.8 และยอดผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่มลฑลเหอเป่ย (Hebei) ซึ่งมีเมืองหลวงคือ Wuhan)
– เริ่มมีรายงานเคสที่รักษาหาย ซึ่ง Protease Inhibitors (PIs) ได้ถูกนำมาใช้
.
ไล่ตัวเลขการติดเชื้อดู พบว่ามีการกระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ จากตัวเลขดูเหมือนทางการจีนน่าจะเริ่มสามารถกักการแพร่กระจายของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตให้อยู่ในพื้นที่ได้ โดยร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อยังอยู่ในพื้นที่เหอเป่ย และร้อยละ 93 ของผู้เสียชีวิตก็อยู่ในพื้นที่นั้น
.
อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2.8% ซึ่งหากเทียบกับ SARS หรือ MERS แล้วพบว่าน้อยกว่ากันมาก (SARS อยู่ที่ 10%, MERS 30%)
——————–

เริ่มเห็นมีการนำตัวยาต้านไวรัสกลุ่ม Protease inhibitors (PIs) มาใช้ในการรักษา ซึ่งอย่างที่เคยเรียนใน post ครั้งก่อน มันเร็วไปที่เราจะสามารถเข้าใจเจ้าเชื้อโคโรน่าไวรัสที่เกิดการกลายพันธุ์จนแพร่ระบาดครั้งนี้ในระยะเวลาสั้นๆ ได้

โดยปกติการให้ยา โดยเฉพาะยาที่มีผลฆ่าเชื้อควรจะพบตัวรับบนตัวเชื้อที่จำเพาะเจาะจง จะได้ฆ่าเชื้อได้อย่างหมดจดไม่หลงเหลือ แต่เพราะคราวนี้มีผู้เสียชีวิตด้วยเชื้อลักษณะใหม่ ทางการแพทย์จึงพยายามที่จะดึงเครื่องมือที่มีมาใช้ไปก่อนตามสมมติฐาน

#ถามว่า Protease Inhibitors ไปทำอะไรกับตัวเชื้อ :

ปกติแล้วตัวเชื้อจะส่ง RNA ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์เหยื่อ แล้วใช้ให้เซลล์เหยื่อทำตัวเป็นโรงงานผลิตลูกหลานให้ ถ้าพยายามเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เจ้า protease inhibitors นี้ จะเข้าไปยับยั้งการผลิตโปรตีนเพื่อกลายเป็นตัวของลูกหลานเจ้าโคโรน่าในช่วงท้ายของการถอดรหัสพันธุกรรม ทำให้ไม่สามารถคลอดออกมาได้เป็นตัวต่อไปได้

——————-

มีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเจ้ายาต้านไวรัสกลุ่ม Protease Inhibitors นี้หลายประการที่น่าหยิบมาเล่า
.
– PIs นี้หลักๆ แล้วใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ HIV กับ ไวรัสตับอักเสบ C

– ตัวที่ใช้รักษา HIV จะมีชื่อลงท้ายด้วย -navir (อย่างตัวที่เป็นข่าวเป็นกลุ่ม -navir เช่น Nelfinavir, Lopinavir, Ritronavir) ส่วนตัวที่ใช้รักษา Hep C จะลงท้ายด้วย -previr

– ยากลุ่มนี้ในตอนแรกถูกออกแบบด้วยการใช้ computer model ในการออกแบบโครงสร้างยา (ไม่ใช่สุ่มสร้างอย่างไม่มีเป้าหมาย) โดยพอนักวิจัยทราบโครงสร้างของตัวเชื้อ ก็ได้ใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบโครงสร้างสามมิติที่จับกับเชื้อได้พอดี จากนั้นก็ทำการสังเคราะห์ยาตามโครงสร้างนั้น (เจ๋งปะหละ เค้าทำแบบนั้นได้ตั้งแต่ก่อนปี 2000 อีกนะ!)

– ก่อนที่ยากลุ่มนี้จะถูกนำมาใช้ อัตราการตายของผู้ติดเชื้อ HIV สูงมาก โดยเพิ่มปีละ 20% ทุกปี แต่หลังจากนำยามาใช้ 2 ปี อัตราการตายของผู้ป่วยในอเมริกาลดลงจากปีละ 50,000 คน เหลือเพียง 18,000 คน ซึ่งมีนัยยะสำคัญมาก

– อย่างไรก็ดี ถ้าไปค้น nelfinavir ในฐานข้อมูลของอย. ไทย จะพบว่าไม่มีทะเบียนยานี้แล้วในประเทศไทย สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะเคยเกิดเรื่องการปนเปื้อนในยาก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งเป็นเหตุให้นานาชาติ และ อย.ไทยตัดสินใจประกาศถอนทะเบียนยาออกจากระบบ (มียาตัวอื่นแทนได้)

– ส่วน Lopinavir และ Ritronavir มีการใช้เป็นสูตรผสม ในไทยถ้าสืบประวัติย้อนไป ก็จะเจอเรื่องราว “การเมืองเรื่องของยา” เกี่ยวข้องซับซ้อนหลายเรื่องที่จะให้เล่าก็เล่าได้เป็นวัน

คือ ในช่วงที่ประเทศไทยมีความพยายามทำ CL (Compulsary Licensing) หรือ ริบสิทธิบัตรยา ทำให้บริษัทยาข้ามชาติต้องถอนทะเบียนและทำให้องค์การเภสัชกรรมกลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาตัวนี้ในไทยได้ในราคาที่ถูกลงหลายเท่า ซึ่งตอนนี้ในไทยมีทั้งสูตรยาเม็ดเคลือบและยาน้ำ

แต่การริบสิทธิบัตรยาที่ว่า ก็ทำให้บริษัทยาเมืองนอกไม่ไว้วางใจรัฐบาลไทยไปพักนึงเลยเหมือนกันว่าจะทำกับยาตัวอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้ยาใหม่เมืองนอกบางตัวก็จะไม่มีวางขายในไทยไปเลยเหมือนกัน

เรื่องการใช้ยากลุ่ม PIs ที่ว่ามีเคสใช้ยากลุ่มนี้แล้วหาย อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่ายาตัวนี้ใช้ได้ตลอดไป สถานการณ์ตอนนี้ที่หน้างาน ยาอะไรที่มี มีกลไกน่าจะช่วยได้ ก็เอามาใช้ไปก่อน แล้วก็เก็บข้อมูลผลการรักษาเพื่อเรียนรู้และนำไปใช้กับเคสรายอื่นๆ ต่อ สิ่งที่ยากของยาต้านไวรัสคือ เชื้อมันกลายพันธุ์ง่ายมาก (ยกตัวอย่าง HIV สิ เราสู้มาตั้งแต่ปี 1985 ถึงตอนนี้เรายังปราบมันไม่ได้ราบเรียบเลย แต่เราสำเร็จในระดับที่ทำให้คนเป็นเอดส์ไม่ต้องตายฉับพลันแต่อยู่กับมันไปตลอดชีวิตได้กลายเป็นโรคเรื้อรังไปเลย)

——————–

แค่เรื่องข้อมูลการกระจายของเชื้อในเมืองอู่ฮั่น ก็แตกประเด็นได้หลายเรื่องจริงๆ

ส่วน link สำหรับทุกท่านเข้าไปดูข้อมูลการระบาดของ Johns Hopkins นะครับ ที่นี่ได้เลยครับ : http://bit.ly/2uClLic load ข้อมูลออกมาเป็น google sheet ก็ได้ด้วยนะ เอาไปใช้งานต่อได้เลย

เวปไซต์นี้คือตัวอย่างที่ดีของการนำข้อมูลสาธารณะ นำมาใช้สร้าง visualization ให้เกิดประโยชน์ ทำให้ทุกคนมองเห็นปัญหาได้ตามความเป็นจริง ไม่เพิกเฉย แต่ก็ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ซึ่งเหมาะกับเป็นการบริหารข้อมูลในยุค 4.0 จริงๆ

(ภาครัฐไทยเราก็อยากให้ทำได้แบบนี้เหมือนกันนะครับ หลายเรื่องเลย ถ้าว่ากันตรงๆ ตอนนี้ก็มีหลายเรื่องที่เค้าทำแล้วแหละ แต่อยากได้ real time แบบนี้ และ visualization แบบนี้ด้วยเลยครับ)

#nCoV #ProteaseInhibitors #PIs #Lopinavir #Ritronavir #Wuhan #Hubei #Corona #NovelCorona #โคโรน่าไวรัส #เภสัชกรการตลาด