Pharmapreneure – ผู้ประกอบการด้านเภสัชกรรม

สรุปแบบสั้นที่สุด

  • เป็นงานที่รวมเนื้อหาระดับหัวกระทิสำหรับเภสัชกรหรือผู้ที่ต้องการจะหาความรู้ที่ครอบคลุมการบริหารจัดการร้านขายยาและทำธุรกิจร้านขายยาให้ประสบความสำเร็จ
  • สามารถทำธุรกิจร้านขายยาให้ประสบความสำเร็จได้ โดย ทำร้านยาให้ถูกต้องตามเกณฑ์ (GPP), สร้างบทบาทความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่แก้ปัญหาได้ (4Ps+ 1 Pharmacy Practice), วิจัยตลาดก่อนเลือกทำเลเปิดร้าน, เลือกใช้ Software บริหารจัดการร้านเพื่อรู้จักตนเอง รู้จักคนไข้ เสนอบริการที่คนไข้ต้องการ และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
  • เภสัชกร/ผู้ประกอบการร้านยา ต้องคิดไว้เสมอ ว่าร้านยาคือ จุดแก้ปัญหาความเจ็บป่วยของคนไข้ เป้าคือ ทำให้คนไข้สุขภาพดี ไม่ใช่ตั้งต้นที่ยอดขาย เมื่อคิดได้เป็นธรรมชาติ คนไข้จะไว้ใจและเข้ามารับบริการต่อเนื่องตลอดไป

เนื้อหาเต็มๆ

เมื่อวานนี้ (18 สิงหาคม 2561) ผมเองได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกิจกรรมของเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ในหัวข้อบรรยายที่มีชื่อว่า “Pharmapreneure เคล็ด (ไม่) ลับ ผู้ประกอบการร้านยา” คำว่า Pharmapreneure อ่านว่า “ฟาร์ม่า-เพรอเนอร์” เป็นคำผสมระหว่างคำว่า “Pharma” ที่แปลว่า “งานเภสัชกรรม” กับคำว่า “Entrepreneure” ที่แปลว่า “ผู้ประกอบการ” เมื่อเรียกผสม ก็แปลได้ว่า “การเป็นผู้ประกอบการทางด้านเภสัชกรรม”

ซึ่งหากท่านๆผู้อ่านอยู่ในแวดวงเภสัชกรรมน่าจะพอทราบดีว่าการทำอาชีพเภสัชกรนั้นจะต้องทำการประสานกันทั้งทางด้านศาสตร์การให้การบริบาลทางเภสัชกรรมที่ดี ซึ่งเป็นงานด้านคลินิก งานด้านการดูแลคนไข้ ต้องมีความรู้ทั้งอาการของโรคและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จะนำมาใช้รักษา และยังต้องมีความรู้ศาสตร์ด้านอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะด้านธุรกิจซึ่งเป็นศาสตร์ที่พูดถึงน้อยมากเมื่อยามอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

เหตุที่เภสัชกรต้องรู้ศาสตร์ด้านธุรกิจด้วยก็เพราะในปัจจุบันร้านขายยาแผนปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่กว่า 17,000 ร้าน ต้องมีเภสัชกรประจำอยู่ตลอดเวลาทำการเพื่อที่จะสามารถขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของยอดขายในร้านยาส่วนใหญ่ เภสัชกรจึงเปรียบเสมือนกับหัวใจของธุรกิจที่ทำให้ร้านยาดำเนินการอยู่ได้ เจ้าของร้านยาส่วนใหญ่จึงเป็นเภสัชกร  และนอกจากนี้ธุรกิจร้านยาในปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกหลายๆปัจจัย ทั้งในมุมมองของวิชาชีพ ที่โดยธรรมชาติแล้วจะเน้นงานบริการผู้ป่วย แต่เพราะในประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำและไม่ชัดเจนของหน้าที่ระหว่างวิชาชีพจึงส่งผลให้ภาพของความเป็นผู้รู้ด้านยาของเภสัชกรกลับถูกลดทอนความชัดเจนลง ทั้งยังมีเรื่องผลกระทบจากกฎหมายใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ เกณฑ์การตรวจการให้บริการใหม่ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินการของร้าน รวมไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้บรรดาเภสัชกรต้องกลับมาตั้งคำถามถึงจุดยืนใหม่ของตนเองสำหรับการให้บริการในร้านยาและความอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจของตนเอง

การจัดงานในวันนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่ทางเภสัชกรรมสมาคมได้จัดหัวข้อนี้ขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่เภสัชกร ซึ่งเนื้อหาเรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมระหว่างการดำเนินธุรกิจและงานบริการด้านเภสัชกรรม และชี้ให้เห็นกลายๆ ว่าอนาคตและทิศทางการทำธุรกิจร้านขายยานั้นควรเบนเข็มไปทางใด ซึ่งหลังจากที่ได้ฟังวิทยากรทั้ง 6 ท่าน ทำให้รู้สึกได้ทีเดียวว่าอนาคตธุรกิจร้านยาที่มั่นคงยั่งยืนโดยเภสัชกรนั้นยังมีความเป็นไปได้อยู่มากทีเดียว โดยหัวข้อในวันนี้เริ่มต้นด้วยการพูดถึงอนาคตและทิศทางร้านยา ภาพของกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการธุรกิจร้านยา  ภาพของงานให้บริการที่ร้านยาโดยเภสัชกร ภาพของการนำวิธีคิดทางการตลาดมาใช้กับร้านยา รวมไปถึงการนำเทคโนโลยียุคใหม่มาใช้ช่วยในการบริหารจัดการร้านยา ซึ่งนับได้ว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวทีเดียว

ผมขอเล่าไฮไลท์ของการบรรยายโดยไม่เรียงตามลำดับของวิทยากร แต่ขอเรียงลำดับตามความเข้าใจส่วนตัว ซึ่งคิดว่าน่าจะเรียกว่าตอบโจทย์เรื่องการทำธุรกิจร้านยาได้ไม่มากก็น้อยเลย


อ.เภสัชกร ภิชญภณ หนุนภักดี : แนวโน้มธุรกิจร้านขายยาและการปรับตัวรับมือยุค 4.0

“เภสัชกรร้านยาต้องเข้าใจทิศทาง ปรับโมเดลการดำเนินการ และปรับปรุงประสิทธิภาพ”

FB_IMG_1534557543796

  1. ภาพอนาคตที่ท้าทายของร้านยา ได้แก่
    • การเตรียมการแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ. … ซึ่งกระทบ “ผู้รับอนุญาต”ในแง่ของการดำเนินธุรกิจ ที่กำหนดให้ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตลอดเวลาเปิดดำเนินการ การจัดให้มีป้าย/ฉลาก/พื้นที่จัดยาแยกส่วน การแยกเก็บยา การทำบัญชีซื้อขายยา   และกระทบ “ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ” ซึ่งหมายถึงเภสัชกร ทั้งในแง่การควบคุมการเก็บยา/การขายยา  การควบคุมการส่งมอบยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ การควบคุมการทำบัญชียา ซึ่งยังรวมไปถึงการถูกแย่งบทบาทหน้าที่ด้านยาโดยวิชาชีพอื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาได้ร้านยา1
    • กฎหมายการตรวจให้ใบอนุญาต/ต่อใบอนุญาตร้านยา ตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม ซึ่งร้านยามีทางเลือกที่จะทำตามเกณฑ์ขั้นต่ำคือ GPP (Good Pharmacy Pratice) หรือ ร้านยาคุณภาพ
    • การเชื่อมต่อกับสถานพยาบาลอื่นๆ ร้านยาในปัจจุบันยังไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหน่วยบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งผลให้เป็นการยากที่จะทำการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง ทำการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาล  (แต่มีข่าวแว่วๆ ว่าอาจมีข่าวดีเรื่องนี้ในอนาคต)ร้านยา2
    • เทคโนโลยีดิจิทันซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภค ที่ผ่านอุปกรณ์การเชื่อมต่อเมื่อไหร่ก็ได้ ผ่านเครือข่ายที่ไร้พรมแดน และเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภครับเลือกข้อมูลกันเอง  จนส่งผลไปถึงความต้องการในการซื้อ/ขายยาแบบออนไลน์ตามที่หลายๆ ประเทศอนุญาตให้ทำได้ ซึ่งชัดเจนว่าในปัจจุบัน พ.ร.บ.ยา ในปัจจุบันตามมาตรา 19 ไม่อนุญาตให้ทำได้
    • การเข้ามาของโรคเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับความเสื่อม รวมทั้งการเข้ามาของสังคมสูงอายุก่อนวัยอันควรของประเทศไทย
  2. ร้านยาต้องปรับโมเดลการดำเนินการ
    • เริ่มที่การเลือกโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมตามรูปแบบของกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการเลือกดำเนินการในรูปแบบ “บุคคลธรรมาดา” หรือ “นิติบุคคล”  และการเข้าสู่ระบบ VAT สำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้มากกว่าปีละ 1.8 ล้านบาท
    • การสร้างโมเดลธุรกิจ (วิธีการได้มาซึ่งรายได้) แบบใหม่ ให้ตอบโจทย์แนวทาง ตัวตน อัตลักษณ์ ที่อาจไม่จำเป็นต้องสร้างรายได้จากส่วนต่างของการขายยาเสมอไป ซึ่งอาจปรับเรื่องความแตกต่างในตัวสินค้า/บริการ  การปรับราคา(เน้นถูก) หรือการเลือกบริการเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย โดยแนะว่า “ถูก – เร็ว – ดี” ไม่เคยมีพร้อมกัน  ผู้ประกอบการต้องเลือกอย่างมากแค่เพียงสองอย่าง (แต่ผู้เขียนเองกลับเห็นต่าง  เพราะ “ถูก-เร็ว-ดี” อาจมีได้ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เปลี่ยนกรอบใหม่เช่นเดียวกับวิถีของ Startup)  แนะนำให้ลองทำการบ้านโดยเขียน “Business Model Canvas” ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวม
  3. ร้านยาต้องปรับประสิทธิภาพการดำเนินการ 
    • การนำระบบ POS (Point of Sale) มาใช้ในการทำงาน ซึ่งควรต้องมีระบบที่ช่วยบันทึกการให้บริการได้ ช่วยการบริหารงานจัดการงานคลังได้ ทำรายงานการซื้อ/ขายยาได้ บริหารและติดตามลูกค้าได้  ยกตัวอย่างเช่น POS ที่ถูกหยิบยกมาในวันนี้คือ Software ในระบบ cloud  ที่ชื่อArincare(มีรายละเอียดในส่วนถัดไป)

ร้านยา_4_0_pdf

    • การรู้จักหลักการสื่อสารการตลาด (มีเนื้อหาเรื่องนี้ในส่วนถัดไป)
    • ร้านยาต้องเข้าใจงบการเงิน  ซึ่งประกอบไปด้วย งบกำไร/ขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสด ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารประสิทธิภาพทั้งทางด้านการเงินและตัวชี้วัดในด้านต่างๆ ได้ เช่น คลังสินค้า หรือการวางแผนเพื่อพัฒนาได้

success


อ.เภสัชรปรุฬห์ รุจนธำรง : กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยา

“เข้าใจ GPP ให้ถ่องแท้ รวมทั้งเข้าใจเกณฑ์ของผู้ตรวจในพื้นที่ด้วย”

31326832_1872721876095736_1829168451868950528_o

  1. Timeline ของการบังคับใช้กฎหมายในร้านยา

img_3069

    • จากรูปด้านบน มีแกนสองแกนให้มอง คือ แกนแนวนอนเป็นแกนเวลา ตาม timeline ที่สำคัญของการบังคับใช้กฎหมาย GPP ซึ่งจะแสดงสิ่งที่ร้านยาจะต้องดำเนินการ ส่วนแกนตั้งจะใช้แบ่งข้อบกพร่องร้ายแรง (ด้านบน) และข้อบกพร่องไม่ร้ายแรง (ด้านล่าง)
    • ไฮไลท์หลักๆ คือ กฎหมาย GPP เริ่มเดินทางมาตั้งแต่ 25 มิ.ย. 2557 และจะดำเนินการจาก GPP ขั้นที่ 1 ไปจนถึงบรรลุผลขึ้นที่ 3 ในปี 2565 ซึ่งหมายถึงทุกคนที่ทำธุรกิจร้านยาต้องมีทุกอย่างตามที่ GPP ระบุในวันนั้น
  1. กฎหมายที่ระบุว่าเภสัชกรทำอะไรได้หรือไม่ ได้ถูกกำหนดไว้โดยสภาเภสัชกรรม : ซึ่งกำหนดว่า ถ้าเภสัชกรจะทำงานในร้านยาต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งหน้าที่และบทบาทของเภสัชกรตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น
    • กิจกรรม : การทบทวนประวัติผู้ป่วย – การใช้ยาในอดีต – ประเมินความจำเป็นการใช้ยา – การปรุงยาในร้านต้องมีการตรวจสอบความคลาดเคลื่อนตามใบสั่ง (ซึ่งก็มีเหมือนกันที่ร้านเสริมสวยหรือพระสงฆ์พยายามจะออกใบสั่งยามาให้! ซึ่งอันนั้นใช้ไม่ได้และไม่ถือว่าเป็นใบสั่งยาตามกฎหมาย) – การตรวจสอบความสมเหตุผลของการจ่าย – การให้คำแนะนำในการใช้ยา
    • การจ่ายยา : ต้องบอกชื่อยา ข้อบ่งใช้ ขนาดและวิธีใช้
    • เมื่อจ่ายยาไปแล้ว : ทำอย่างไรให้คนไข้กินยาได้ต่อเนื่องและปลอดภัย ต้องมีขั้นตอนการติดตามการใช้ยา ตามมาตรฐานวิชาชีพ หากใช้ยาแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต้องจัดทำอาการไม่พึงประสงค์ตามแบบฟอร์มที่กระทรวงกำหนด (ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงยังไม่ได้กำหนด จึงให้ใช้แบบฟอร์มอื่นไปก่อน เช่น แบบฟอร์มของ อย.)
    • การให้คำปรึกษา : ต้องให้คำปรึกษาทุกครั้งที่มีการจ่ายยา ต้องเป็นตามหลักวิชาการ (เช่นตามหลักการหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าเภสัชกรต้อง update วิชาการของตัวเองอยู่เสมอ จัดเก็บที่มาของข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจ การมีส่วนได้เสียทางตรงจากการให้คำปรึกษาต้องแจ้งให้คนไข้ทราบก่อนการให้คำแนะนำ และให้เน้นประโยชน์แก่ผู้ขอคำแนะนำ
  2. คู่มือตรวจประเมินร้านยา มี 2 เล่ม ตามภาพ
    • มีเรื่องที่น่าสนใจคือ คู่มือมีสองเล่ม เล่มนึงสำหรับผู้ประกอบการใช้ในการประเมินตนเองเพื่อเตรียมร้านอย่างไรให้ผ่าน GPP ส่วนอีกเล่มหนึ่งใช้บอกว่าถ้าเจ้าหน้าที่มาตรวจร้านจะตรวจอะไร ซึ่งแบบประเมินตนเอง กับ แบบที่เจ้าหน้าที่ใช้ มันเป็นคนละแบบ คนละเกณฑ์(ฮา!) ด้วยเหตุผลว่า เพื่อไม่ให้มีข้อขัดแย้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย โดยวิธีทำคือให้ร้านประเมินตนเองแล้วส่งไปให้เจ้าหน้าที่
    • แต่สุดท้ายก็คือ ต้องไม่พบข้อขัดข้องร้ายแรง (critical defect)
    • ดังนั้น ร้านยา ขอให้เข้าไป load หนังสือทั้งสองเล่มได้ตาม QR Code ในภาพได้เลย (ใช้มือถือถ่าย QR Code ตามภาพได้เลย) หรือ เข้าไปดูได้ผ่าน link : http://www.fda.moph.go.th/sites/Drug/SitePages/GPPPage.aspx
    • img_3070
  3.  คำถามที่พบบ่อย
    • ร้านยาจำเป็นต้องมีส่วนบริการตนเองหรือไม่
      • ตอบ : พื้นที่ 8 ตร.ม. คือ พื้นที่ขั้นต่ำในการขอรับอนุญาตเปิดร้านยา ซึ่งไม่นับรวมส่วนบริการตนเอง
      • img_3071
    • ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ควรวางตรงไหน (บริเวณบริการตนเอง หรือ พื้นที่ให้บริการโดยเภสัชกร
      • ตอบ : เรื่องนี้ตอบไม่เหมือนกัน ขึ้นกับความเคร่ง บ้างก็บอกว่าให้วางในส่วนที่บริการโดยเภสัชกร (ปัญหาการใช้ดุลยพินิจ)
    • วิตามิน ตรงไหนต้องวางส่วนบริการตนเอง/เภสัชกร
      • ตอบ: หากเห็นเครื่องหมาย อย. หรือเลข 13 หลักบนฉลาก ก็เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้วางในส่วนพื้นที่บริการตนเองได้ ถ้าแต่ถ้าไม่มี (เป็นยา) ต้องวางที่หลังเภสัชกรเท่านั้น
    • ร้านยาบางร้าน จะต้องปรับฮวงจุ้ย วางตู้ปลาได้มั๊ย
      • ตอบ : วางไม่ได้ ตู้ปลามีความชื้นทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ. ปลากเป็นสัตว์เลี้ยง จึงห้าม
    • จะแบ่งพื้นที่ร้ายาส่วนนึงเป็นร้านกาแฟได้มั๊ย

      • ตอบ : ต้องระวัง เพราะตอนขออนุญาตทำร้านยาเราได้แจ้งพื้นที่ แต่ถ้าปรับเป็นร้านกาแฟเอง จะโดนข้อหาปรับพื้นที่ร้านยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และความชื้น อาจทำให้ GPP ไม่ผ่าน

  4. เรื่องของสิ่งที่ต้องมีในการทำ GPP ให้ร้านยา
    • img_3073
  • ม่าน
    • เมื่อเภสัชกรไม่อยู่ก็ขอให้มีวัสดุทึบบังยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ (ม่าน)  มีคนถามเหมือนกันว่าไม่มีได้หรือไม่ ก็มีคนตอบว่า ก็เหมือนกับรถถึงแม้จะไม่ได้เปิดไฟเวลาขับรถเพราะขับในเวลากลางวัน ก็ต้องติดไฟหน้ารถ : คำพิพากษาศาลฎีกา แค่บอกว่าเอาอะไรมาปิดเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นม่าน
    • ส่วนข้อความที่อยู่ที่ป้าย ดุลพินิจขึ้นกับแต่ละพื้นที่ (ขอให้ดูแต่ละจังหวัด ซึ่งแตกต่างกัน (ฮา!))
  • ตู้เย็น เครื่องวัดความดัน วัดส่วนสูง น้ำหนัก (ต้องมีด้วยเหตุผลว่าเป็นการสนับสนุนการประกอบวิชาชีพ)
  • ถาดนับเม็ดยา (ต้องมีอย่างน้อยสองถาดในเกณฑ์ เพราะต้องแยกกลุ่มยา เพนิซิลลิน/ซัลโฟนาไมด์/NSAIDS) ดังนั้นในเชิงปฏิบัติแล้ว จริงๆ แล้วต้องมีถาดสำหรับยาทั่วไปอีก 1 ถาด (สรุปแล้ว 4 ถาดนะ)
  • ตู้ยาครีม เมื่อเภสัชกรไม่อยู่ ต้องมีผ้าคลุมตู้หรือไม่ : อันนี้ก็ขึ้นกับดุลพินิจ!  ถ้าเขต กทม. ตอนนี้ได้เปิดได้ไม่ต้องใช้ผ้าคลุม แต่ต่างจังหวัดไม่ให้ ต้องคลุมด้วย / ให้ไปดูที่คู่มือเล่มสีฟ้า
  • ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ยาธาตุน้ำขาว bromhexine ambroxal : ไม่ต้องมีวัสดุปิดทึบ เพราะกฎหมายเขียนไว้แค่ปิดเฉพาะยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ
  • GPP บังคับให้มีเครื่องปรับอากาศหรือไม่ : ไม่ได้เขียนเลยว่าให้ใช้เครื่องปรับอากาศ แค่กำหนดว่าให้ร้านยาจะต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศา (ซึ่งก็อนุมาณกลายๆ ว่าต้องมีเครื่องมือควบคุมอุณหภูมิ) แต่กรณีพัดลมไอน้ำคงใช้ไม่ได้เพราะอาจทำให้มีปัญหาความชื้นได้

 

  • บางร้านอาจ ถ้าจะอารยขัดขืน มีโทษอะไร?

39467612_836181256584741_4592994788906631168_n (1)

ร้ายแรงสุดเลยคือ เพิกถอนใบอนุญาตร้านยาได้ หรือ ไม่ต่อใบอนุญาตร้านยาได้ รองมาคือ การถูกปรับ (อุปกรณ์ไม่ครบ ไม่ถูกต้อง) หรือ ถูกแจ้งให้แก้ไข มีเวลาแก้ไข 45 วัน

  • ร้านยาคุณภาพมีสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายอย่างไร

ได้รับการพิจารณาการต่ออายุร้านยาทันที

ถ้าเป็นร้านยาคุณภาพแล้ว เจ้าหน้าที่จะมาตรวจร้านยาเราได้หรือไม่ : ได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่มาตรวจ อาศัย พรบ.ยา ตามมาตรา 91 มาตรวจ เพียงแต่ไม่ต้องเสียค่าตรวจ 2,000 ให้กับเจ้าหน้าที่แค่นั้นเอง

  • ถ้าพบยาเก็บในตู้เย็น แต่พบว่าไม่ได้เก็บในตู้เย็น : ต้องพิสูจน์ว่าการเก็บยาที่ไม่ควรอยู่ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • พวก POP, Counter display ที่บริษัททำให้ : ต้องดูว่ามีเลขที่ขออนุญาตครบถ้วนหรือไม่ (เลข ฆอ. ฆท. ซึ่งเก็บได้เพียง 5 ปี) โบรชัวร์เครื่องมือแพทย์จะพบบ่อย ใครที่ครอบครองสื่อคนนั้นจะถูกปรับก่อน
  • ถาดนับเม็ดยา : จะต้องมีแสดงกลุ่มยา ไม้นับเม็ดยาจะต้องติดชื่อกลุ่มยาด้วย

เรื่องของยาออนไลน์ & Promotion

  • เรื่องการขายยาออนไลน์ครอบคลุมอะไรบ้าง : ยาแผนโบราณ ทิฟฟี่ Air-X
    • ตอบ ถ้ามีภาพยาอยู่บนเวปเพื่อขาย จะเข้าข่ายสองประเด็นคือ
      1. ถือเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต / การขายโดยไม่ได้รับอนุญาต
      2. การขายยานอกสถานที่ (ถ้ามียาส่งไปนอกร้าน ส่งได้อย่างเดียว คือ ยาสามัญประจำบ้าน ถ้าไม่ใช่ ขายในร้านได้เท่านั้น) (สรุป เห็นภาพเรื่องโฆษณา / ส่งไปนอกร้าน ขายนอกสถานที่)
    • ถ้ามีคนแจ้ง : การปรับ ขึ้นกับเจ้าหน้าที่ว่าจะตรวจถี่มั๊ย ถ้าทำผิดบ่อยครั้ง มีสิทธิถูกพักใช้ใบอนุญาต (แต่ไม่ถึงกับเพิกถอนเพราะกฎหมายไปไม่ถึง (เฉพาะขาดคุณสมบัติตาม ม.14))
  • การทำ Promotion ในร้าน เช่น แถม ลด จับฉลากได้มั๊ย : กลุ่มยาต้องระวัง แต่อาหารเสริมกฎหมายไม่ได้ห้ามแถม เช่น ถ้าซื้อ 2 แถม 1 ทำได้ (เพราะพ.ร.บ.เสริมอาหารไม่ได้ห้ามแถม) หรือ ติดป้ายว่าซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง (พรบ.อาหาร บอกว่าต้องขออนุญาตเฉพาะการโฆษณาเรื่องคุณประโยชน์เท่านั้น ไม่ได้บอกให้ทำเรื่อง promotion)
  • การขายยาลดราคาทำได้หรือไม่? เช่น ติดราคา 100 ขาย 80…..
    • ตอบว่า ไม่ผิด (กฎหมายไม่ได้ห้ามลดราคายา (บอกแค่ว่าห้ามแถมพก ให้รางวัล) การลดราคาให้ผู้บริโภคถือเป็นการช่วยให้คนไข้เข้าถึงยา ….
    • แต่การติดป้าย ขีดฆ่าราคาเก่า จะเข้าข่ายเรื่องโฆษณาขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าเข้านิยามการขาย ขาย แจก แถม (จะผิดกรณีโฆษณาแถม)
    • แต่การแถมที่ต้องใช้คู่กันอยู่แล้วทำได้ เช่น ยาน้ำเราให้ช้อนกินยาน้ำ …  การแถมที่กฎหมายห้าม คือ จูงใจให้เกิดการซื้อมากขึ้น
  • การส่งยาสามัญประจำบ้านทางไปรษณีย์ ถึงแม้จะทำได้ก็ตาม : ถ้าแปะที่ website อาจจะติดเรื่องการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต! (ยาสามัญประจำบ้าน : เป็นตัวเดียวที่ส่งมอบนอกสถานที่ได้)
  • ทั้งนี้ต้องตอบคำถามได้ด้วยว่า ส่งยานอกสถานที่นั้น มั่นใจได้อย่างไรว่ายาจะไม่เสื่อมคุณภาพระหว่างส่ง
  • การทำสมาชิก แล้วสะสมแต้ม : ถ้าซื้อยาแล้วได้แต้ม จะเข้าเรื่องโฆษณาแถม , แต้ม (แต้มต้องมาจากเสริมอาหารเท่านั้น)

สามารถติดตามบทความของ อ.ปรุฬห์เกี่ยวกับแนวปฏิบัติ GPP ในร้านยาได้ตามนี้เลยครับ

  • กำหนดระยะเวลาร้านขายยาแผนปัจจุบันต้องปฏิบัติตาม GPP  ://wizsastra.com/2017/10/02/gpp/
  • เงื่อนไขการขายยาและการทำบัญชียาในร้านขายยาแผนปัจจุบัน https://wizsastra.com/2017/09/30/listofdrugsboughtorsold/
  • ปรับปรุงร้านยาอีกนิด เพื่อไปสู่มาตรฐาน GPP https://wizsastra.com/2018/10/09/gpp-step1/

ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง : แนวปฏิบัติสำหรับการบริหารร้านยาคุณภาพ

“การตลาดของร้านยาในยุคปัจจุบันต้อง 5P : 4P+Pharmacy Practices”

FB_IMG_1534557546690

 

img_3083.jpg

ร้านยาแผนปัจจุบันในประเทศไทยมีจำนวน 17,000 ร้าน แต่เป็นร้านที่มีเภสัชกรอยู่เต็มเวลาจริงๆ 5,000 ร้าน (หรือถ้าจะประมาณให้น้อยที่สุด 2,000 ร้าน)

การที่ร้านยาซึ่งเป็นหน่วยบริการเอกชน ซึ่งอยู่นอกระบบการให้บริการของรัฐ จะสามารถช่วยรัฐได้ ทั้งงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ทำเติมยาได้ (remed/refill) เปิดทั้งเสาร์-อาทิตย์ ประชาชนไม่ต้องวิ่งเข้าไปสู่หน่วยบริการน่าจะเป็นผลดีต่อระบบสุขภาพโดยรวม

ดังนั้นจึงกำลังมีการเสนอให้ร้านยาเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ

กรณีศึกษาอาจคล้ายๆ กับ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” เป็นคลินิกเอกชน มี 180 แห่ง ใน กทม. สปสช.ใช้เวลาตรวจรับรองมากพอสมควร ส่วนร้านยาคุณภาพ ที่ผ่านมาการเพิ่มของร้านยาคุณภาพไม่ได้เพิ่มการเข้าถึงของประชาชน เพราะมีปัญหาเรื่องการกระจายตัว … แต่เมื่อกฎหมาย GPP เข้ามา น่าจะช่วยได้ โดยเป้าหมายคุณภาพไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา (ไม่ได้อยู่ที่การผ่านการตรวจประเมินเป็นหลัก) แต่อยู่ที่ประชาชนให้การยอมรับ ถ้าประชาชนไม่ยอมรับ ร้านยาคุณภาพไม่มีประโยชน์ วิธีการทำให้ประชาชนเห็น คือ ทำให้เห็นว่าเรามีคุณค่ามากกว่าการซื้อมาขายไป

  • ร้านยาคุณภาพ 13 ปีของการเดินทาง

img_3084.jpg

ภาพรวมของกิจกรรมของร้านยาคุณภาพได้แก่

  • มีการคัดกรองโรคเรื้อรัง เช่น คัดกรองความเสี่ยงเบาหวาน ความดันโลหิตสูง (เด็กเภสัชที่จบใหม่ๆ จะได้เรียนทุกคน)
  • การทบทวนยาในร้าน การเข้าถึงยาตอนนี้ง่าย มีหลายระบบสิทธิประโยชน์ แต่ยาไปกองที่บ้าน คนไข้เข้าถึงยา แต่เข้าไม่ถึง pharmaceutical care กลายเป็นการควบคุมอาการไม่ได้
  • การเยี่ยมบ้าน คือ การดูแลเรื่องยา

img_3085.jpg

  • การช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไข้ : เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้หรือไม่ ปกติถ้าร้านยาทำ ช่วยคัดกรอง ช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่ได้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ได้ “Pharmacist fee” หรือค่าบริการทางเภสัชกรรมที่หลายๆ คนพูดถึง

ผลการดำเนินงานร่วมกับ สปสช. 

ปี 57 : ทำร้านยาคุณภาพ 100 ร้าน …​แต่สปสช. ก็ตั้งเป้าสูงกว่านั้น อยากให้มีทั้งประเทศ ให้งบมา 4 ล้าน

ปี 58 เดินออกต่างจังหวัด : เชิญร้านยาคุณภาพและร้านยาเภสัชกรมาคุยกัน เริ่มต้นจากงานคัดกรอง งาน MTM (ดูแลเรื่องการใช้ยา)

ปี 59 : เริ่มงานเยี่ยมบ้าน

เรื่องการเลิกบุหรี่ … มีข้อมูลว่าถ้าเลิกบุหรี่ โรคเรื้อรังลดความร้ายแรงได้เยอะ จึงคิดว่าเภสัชกรน่าจะทำได้ ไม่มีใครแย่งเราทำ

มีกระบวนการเขียนใบ refer ส่งต่อให้หมอ

การ refill เกิดขึ้น เห็นชัดที่หาดใหญ่ พี่โต ชวนเภสัชกรชุมชนในพื้นที่ ทำที่เขต 12 โดยให้ร้านเริ่มทำ screening , คัดกรองแล้วส่งต่อ ทำให้เกิด fast tract พุธ/พฤหัสบ่าย คนไข้สามารถถือใบ refer ที่ได้มาจากร้านยาไปที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ แล้วกลับไป refill ต่อที่ร้านยา

Refill ตอนนี้ เติมยา asthma โรคเรื้อรัง มีการส่งยาทางไปรษณีย์ซึ่งภาครัฐทำได้ แต่ทาง กท.สธ.มองว่าร้านยาเป็นเอกชน (เลยยังทำไม่ได้)

นิยามของ “ร้านยาคุณภาพ”

“ร้านยาคุณภาพ” ที่กล่าวถึงในวันนี้ จะไม่จำกัดเฉพาะ “ร้านยาคุณภาพ ที่ผ่านการรับรองโดย สรร.” แต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง “ร้านยาที่ผ่านการตรวจ GPP” และ “ร้านยาที่มีเภสัชกร” ประจำอยู่ตลอดเวลา

img_3087-e1534646207346.jpg

  • GPP phase 1 ทำไม่ยาก จะวุ่นวายหน่อยก็แค่เรื่องอุปกรณ์ คือ ต้องรื้อยามาจัดใหม่
  • แนะนำว่า ในวันนี้หากต้องการทำระบบคุณภาพ ให้ร้านยาพัฒนาไปในแนวทางร้านยา GPP ก่อน แล้วค่อยไปทำร้านยาคุณภาพ
  • คำถาม เป็นร้านยาคุณภาพแล้วได้อะไร
    • การเชื่อมต่อกับระบบหลักประกันสุขภาพเพราะอนาคตจะถือว่าเป็นหน่วยบริการอย่างหนึ่ง
    • มีรายได้ยั่งยืน (จากค่า Pharmacist fee ในรายการต่างๆที่จะกล่าวถึงต่อไป)

เหตุที่ร้านยายังไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบให้บริการสุขภาพหลักในตอนนี้ เป็นเพราะกฎหมายระบุว่า “หน่วยบริการ” หมายถึงสถานพยาบาลของรัฐ หรือ สถานพยาบาลภาคเอกชน หรือ ที่รัฐกำกับ  และ พรบ.สถานพยาบาล เคยเขียนไว้ ว่า “ยกเว้นร้านยา” (ในวันนี้ พรบ.สถานพยาบาล ได้ตัดคำว่า “ยกเว้นร้านยา” ไปแล้ว) ซึ่ง update ล่าสุดคือ เรื่องนี้จะถูกนำเข้าเข้าบอร์ด สปสช. เพื่อพิจารณาในต้นเดือนหน้า ประตูบานนี้กำลังจะเปิด กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ร้านแต่ละร้านให้สมัครตรงกันเอง

อย่างกรณีศึกษาของPCC (Primary Care Cluster) ตอนนี้ หน่วยบริการในพื้นที่ PCC (คลินิกหมอครอบครัว) ต้องการ 6,500 แห่ง กรุงเทพจะมี 5 เขต คิดว่าถ้ามี จะ plug in ร้านยาใน 5 เขตนี้ ….. ทาง สภช. คิดว่า ถ้าเฉพาะเพียงร้านยาคุณภาพคงไม่ทันแต่หากเป็นร้านยา GPP ทั้งหมดสามารถเป็นไปได้ ถ้าเกณฑ์ GPP เข้มแข็งพอ

ผู้ประกอบการร้านยายุคใหม่ต้อง 5P  “4P + Pharmacy Practice” 

การเก็บข้อมูลในร้านยา ให้เก็บมากกว่ายอดซื้อ/ขาย ต้องเก็บประวัติคนไข้ด้วย เป็นเครื่องมือทาง CRM ได้ด้วย  ขอยกตัวอย่าง ร้านน้องเปิ้ล ซึ่งเป็นเภสัชกรที่เพชรบูรณ์ เริ่มต้นร้านแข่งกับร้านยาทีไม่ใช่เภสัชกรในพื้นที่ เข้ามาเรียนรู้งานกับสภช.  เริ่มงานในพื้นที่โดยไปช่วยคลินิกหมอครอบครัว จากนั้นเรียนรู้งาน MTM การดูแลเรื่องยา จากนั้นเชื่อมต่อกับ PC ในชุมชน ทั้งมีมีตารางว่าเปิดวันไหน ปิดวันไหน ทำให้คนไข้รู้ตารางการให้บริการแน่นอนและตามมาใช้บริการในวันที่เปิด (วันอาทิตย์จึงสามารถปิดร้านมาเรียนรู้พัฒนาตัวเองได้เพิ่ม)

P ตัวที่ 5 : Pharmacy Practices งานบริบาลเภสัชกรรมชุมชน 

เราสามารถเสริมงานบริบาลเภสัชกรรมชุมชนเพิ่มเติมได้จากการจ่ายยาปกติในร้านยา ซึ่งได้แก่ตามภาพ

img_3088.jpg

  • การติดมยากับการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ต่างกัน
    • การเติมยา : ใบสั่งใบเดียว มาเติมยาทุกๆ เดือน
    • จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ : แพทย์ตรวจแล้วเอาใบสั่งแพทย์ลงมารับยาที่ร้านยา (คลินิกคุณแย้)
  • สามารถคำนวณค่าบริการพวกนี้ได้ คนไข้ 1 ราย คิดเป็นค่าบริการกี่บาท

Flow การให้บริการคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง : ช่วยให้คน detect ตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น

Flow การคัดกรองความเสี่ยงโรคปอดอุดกั้น

Flow การคัดกรอง Stroke : FAST … ให้คนไข้ถึงมือหมอภายใน 270 นาทีชีวิต

Flow การจัดการด้านยาในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

MTM : review การใช้ยาที่ได้มาทั้งหมด สอบทาน มีการนับเม็ดยา กินแล้วตอบโจทย์การสั่งยาของแพทย์มั๊ย ปัญหา compliance แล้วบันทึกและวางแผนการแก้ไข (patient profile)

Flow การให้บริการเลิกบุหรี่ : มีข้อมูลว่า คนจำนวนไม่น้อยที่อยากเลิกบุหรี่แต่ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน ตัวอย่าง best practice ห้างขายยาจุฬา ซึ่งเป็นมือหนึ่งเรื่องการเลิกบุหรี่

การเยี่ยมบ้าน: :ซึ่งยังคงต้องการเรื่องการเชื่อมกับศูนย์บริการภาครัฐ เพราะยังมีปัญหาการส่งต่อ เรื่อง ความลับผู้ป่วย การส่งต่อข้อมูล เยี่ยมบ้าน อาจทำไม่ได้ทุกแห่ง สำหรับร้านที่มีเวลาเยี่ยมบ้าน และเชื่อมต่อกับสถานพยาบาลได้ (ต้องคุยและเห็นชอบร่วมกัน) ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข 5 เรื่องการเยี่ยมบ้าน ปัจจุบันพยาบาลดูเรื่องงานเยี่ยมบ้าน เภสัชดูแค่เรื่องจำนวนใบยา จึงอยากทำงานเยี่ยบบ้านด้วย จึงได้มีความริเริ่มที่จะทำ

 

การเติมยาที่ร้านยา 

มีงานวิจัยที่ภูเก็ตพบว่า ร้านยาสามารถช่วยลดเวลารอคอยรับยาได้จาก 7 ชม. เหลือเพียง 27 นาที รวมทั้งค่าบริการลดลง จาก 150 บาท เหลือ 40 บาทในการไปรับยาที่ร้านยา

ดังนั้น ถ้าร้านยาใดสนใจและหน่วยบริการในพื้นที่เห็นด้วย ยอมเปิดงาน สมาคมฯ​จะลงไปช่วย

แบบฟอร์มบันทึกรายงานการให้บริการของสมาคม: 

  • ทุก service ที่ key เข้ามา จะได้รับเงินกลับไป

สมาคมฯ มีการโทรไปถามคนไข้ด้วย ว่าบริการดีหรือไม่ บอกว่า 99.99% มีความพึงพอใจ … เปรียบเทียบเหมือนกิ้งกือ เหมือนขาเล็กๆ มาช่วยกันให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

กล่าวโดยสรุปคือ ทางสมาคมวิชาชีพเภสัช เสนอให้ขายบริการเพิ่มขึ้น จากการขายสินค้า(ยา) ซึ่งก็คือ “4P + Pharmacy Practice”

ผู้เขียนเสนอว่า อาจจะต้องมีการสอน “กระบวนการงอลของเภสัช” (กระบวนการงอนลูกค้าแบบงามๆ) กรณีคนไข้มาขอคำปรึกษาที่ร้านเยอะๆ แต่ไม่ซื้อยาที่นี่ แต่กลับข้ามไปซื้อร้านอื่นที่ขายถูกกว่าแทนด้วย (ฮา!) …

เอ้า จริงนะ!

สนใจเรื่องงานบริการทางเภสัชกรรมเพิ่มเติม ติดต่อพี่หมูได้โดยตรงที่ 083-809-0393


คุณธีระ  กนกกาญจนรัตน์: แนะนำโปรแกรมช่วยจัดการร้านยา “Arincare”

“Software ในระบบ cloud ที่ปลอดภัยที่สุดที่ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์การทำงานด้านเภสัชกรรมชุมชน”

37300533_2057101547657200_836834739372425216_n

ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นการสูญพันธ์ุของหน่วยการบันทึกในยุคเก่า เช่น  CD, DVD  หรือแม้แต่การบันทึกใน hard disk ซึ่งเป็น local drive ด้วย  การบันทึกข้อมูล และใช้ Software ในระบบ cloud จึงกำลังเป็นเรื่องของอนาคตที่สามารถตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย ป้องกันข้อมูลสูญหาย และสร้างความเป็นส่วนตัวได้ เฉกเช่นเดียวกับที่บริษัท Software ใหญ่ๆ ให้บริการ เช่น Google ที่ให้บริการ gmail ซึ่งมีคนใช้มากที่สุด ซึ่งช่วยตอบโจทย์ ทั้งในแง่เรื่องส่วนตัวและด้านธุรกิจ

Arincare ก็เช่นกัน ได้เปิดให้บริการ Software ที่ร้านขายยาสามารถใช้บริการได้ฟรี โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ร้านยาเข้าสู่ระบบ Digital เพื่อให้ร้านยาเดี่ยวสามารถบริหารจัดการร้านยาของตนเองได้ดีขึ้น สามารถสู้กับเชนใหญ่ได้ และสามารถให้บริการคนไข้ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยผู้ใช้งานซึ่งเป็นร้านขายยาใช้ระบบได้ฟรี และจะมีบริษัทยาต่างๆ เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนในรูปแบบ sponsor ในกิจกรรมต่างๆ ของ Arincare ต่อร้านขายยาและสามารถนำเสนอโฆษณาต่อร้านขายยาได้โดยตรงต่อไป

เภสัชกรหรือผู้ประกอบการร้านขายยา สามารถสมัครเข้าไปใช้บริการได้ฟรี ด้วย feature ที่เรียกได้ว่าไม่แตกต่างจาก software บริหารร้านยาที่ขายเป็นหลักหมื่น หลักแสน หรือ Software ที่ซื้อแล้วมีการจำกัดจำนวนบิล  รวมทั้งไม่มีความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลในเครื่องซึ่งสามารถเสียหายได้จากการโดนไวรัส หรือ Software เรียกค่าไถ่ที่ร้านขายยาจำนวนไม่น้อยเคยโดนมาแล้วเนื่องจากมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในร้านหลากหลายงาน ในขณะที่ Software ในระบบ cloud มีความปลอดภัยและสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทั้งหมด  ซึ่งล่าสุด Software ในระบบ Cloud ของ Arincare สามารถเปิดทำงานในระบบ off-line ได้แล้ว (ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหากรณีที่สัญญาณ internet ของร้านอาจติดขัดเป็นบางช่วง)

โดย Arincare สร้าง software ด้วยการใช้แนวคิดการทำงานแบบ Startup ที่จะทำให้สิ่งที่ “ถูกกว่า – เร็วกว่า – ดีกว่า” เป็นไปได้ในโลกของงานเภสัชกรรม

การเริ่มใช้งานเภสัชกรและเจ้าของร้านยาสามารถเข้าไปสมัครและใช้ระบบผ่านเวปไซต์ที่ชื่อ www.arincare.com ตามภาพ

arincare.png

และ สามารถดู VDO แนวคิดการใช้งาน Software บริหารร้านยาโดย Arincare ได้จาก VDO : https://youtu.be/kL1yo6dpu7s

โดย Software จะแบ่งส่วนการใช้งานหลักคือ หน้างานขายหน้าร้าน และ หน้าบริหารจัดการหลังบ้าน  นอกจากนั้นสามารถเข้าไปเรียนรู้ระบบผ่าน VDO สอนการใช้งานที่ทำไว้อย่างละเอียดบนเวปไซต์  และหากมีปัญหาข้อสงสัยสามารถพูดคุยกับทีมงานได้ทันที

หน้าจอ POS หรือ ระบบการขายหน้าร้าน

Feature ที่บรรยายในงาน

  • ระบบหน้าบ้าน (งานขายหน้าร้าน) 
    • สามารถค้นยาจากชื่อสามัญได้
    • มี arincare wiki เป็นข้อมูลอ้างอิงให้กับเภสัชกรเวลาใช้งาน สามารถใช้ตรวจสอบข้อควรระวังการใช้ยา ใช้เป็นสื่ออ้างอิง ณ จุดขาย ซึ่งอนาคตเมื่อ feature นี้เปิดให้คนไข้ค้นหาความรู้เกี่ยวกับตัวยาได้ ร้านยาที่ใช้ software Arincare สามารถนำพิกัดร้านของตัวเองไปใส่ในระบบ ทำให้คนไข้สามารถเห็นร้านยานั้นๆ ได้จากระยะที่ใกล้ตัวคนไข้ แนวคิดการทำงานคล้ายๆ Google my business แต่จำเพาะเจาะจงสำหรับเรื่องยาโดยตรง
    • มีระบบการพิมพ์หน้าซองยา
    • ระบบสมาชิก : สามารถค้นหาด้วยโทรศํพท์มือถือ , บันทึกยาที่แพ้ (พร้อมแจ้งการเตือน และเตือนก่อนขาย) บันทึกโรคประจำตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับงานบริบาลทางเภสัชกรรมมาก
    • บันทึกสินค้าที่ซื้อบ่อยที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพูดคุยกับลูกค้าในครั้งต่อไป
    • การเชื่อมต่อกับระบบ QR code เพื่อจ่ายเงิน ตอนนี้ลูกค้าใช้มือถือยิงตรงได้เลย (ลดขั้นตอนจด crop หน้าจอและส่งต่อ) อนาคตจะมี Alipay & Vchat (ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับร้านยาที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน)
  • ระบบงานหลังบ้าน (การบริหารจัดการสต๊อค, สรุปยอดขาย, บัญชียา)img_3107.jpg
    • มีระบบ dashboard บทสรุปในเชิงธุรกิจ เช่น รายได้มาจากไหนในช่วงเวลานั้น พนักงานคนไหนเป็น top sale, ดูได้ว่าวันไหนในสัปดาห์ขายได้ดีที่สุด รวมทั้งช่วงเวลาไหนของสัปดาห์ที่ขายดี
    • รายงาน ขย. 9,10,11  และสามารถ export มาทั้งในรูปแบบ PDF หรือ excel ซึ่งสอดคล้องกับการทำร้านให้ตรงตามหลักเกณฑ์ GPP
    • รายงานคลังสินค้า export ออกมาเป็น excel ได้เช่นเดียวกัน
  • เปิดตัวบริการใหม่
    • Arinshare : ช่วยให้ร้านยาช่วยระบาย stock ระหว่างร้านยาด้วยกันเอง สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://app.arincare.com/arinshare (ต้องสมัครเป็นสมาชิกในตัวระบบเพื่อยืนยันความเป็นเภสัชกรและร้านขายยาก่อนใช้งาน) ARINSHARE__เพื่อนช่วยเพื่อน_-_บริการช่วยระบายสินค้าสำหรับเพื่อนๆ_ร้านขาย
    • Arinhelp : เชื่อมต่อกับร้านยากับผู้ค้าส่ง เพื่อให้เกิดการเสนอราคาและซื้อขายผ่านระบบ img_3110

กล่าวโดยสรุปคือ เป็น Software ยุคใหม่ที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์งานบริการทางเภสัชกรรมชุมชนจริงๆ ผู้ประกอบการร้านขายยา และเภสัชกรสามารถใช้บริการได้ฟรี ซึ่งทีมงานอยากให้เภสัชกรทุกท่านได้ลองลงทะเบียนและทดลองใช้ รวมทั้งยังสามารถเข้าร่วมงานประชุมวิชาการที่ทาง Arincare จัดให้กับร้านยาทุกเดือน เพื่อให้ร้านขายยาให้บริการที่ดีแก่ผู้รับบริการและคนไข้ได้ดีที่สุด โดยสามารถสมัครได้ผ่าน www.arincare.com


ภก.ดร.สุวิทย์ ธีรกุลชน : กลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับร้านขายยา

“สามกลยุทธ์หลักที่นำมาปรับได้สำหรับร้านยา คือ สร้างพันธมิตรกับคู่ค้า สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะ และสร้างความพึงพอใจเกินคาดหมาย ณ จุดบริการ และที่อยากให้ทำมากคือวิจัยพฤติกรรมลูกค้าของร้านยา”

FB_IMG_1534557549514

การให้สิ่งที่เกินความคาดหวังของลูกค้า บางครั้งนำไปสู่ยอดขาย และหลายครั้งทำให้เกิด loyalty (ความจงรักภักดีในตราสินค้า)

ให้บริการให้เกินคาดหวัง : Exceed expectation

เริ่มต้นที่เภสัชกรเองที่ต้องปรับ mindset เริ่มแรกก่อน คือ การให้บริการทางเภสัชกรรมที่ร้านยา “เป้าประสงค์หลัก คือ ต้องการทำให้คนเข้ามาใช้บริการมีสุขภาพดี” ไม่ใช่เริ่มที่ตั้งเป้าว่าจะต้องขายได้เท่าไหร่ ต้องยัดเยียดขายหรือไม่ ซื้ออะไรเสริมมั๊ย ต้องให้บริการเสริมอะไรที่พอจะคิดเป็นเงินได้ ไม่ใช่แบบนั้น  ยกตัวอย่างเช่น คนไข้เข้ามาด้วยต้องการซื้อยาแก้ไอ แต่เภสัชกรกลับสามารถช่วยให้เค้าไม่เป็นโรคปอดได้ด้วยการช่วยให้สามารถเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งหากทำได้ร้านยาแห่งนี้จะทำให้กลายเป็นที่ต้องการของชุมชน

ประเมินการแข่งขันในพื้นที่

เราสามารถประเมินการแข่งขันในพื้นที่ได้ว่ามีร้านขายยากี่ร้านในระยะทางที่เดินทางได้ search จาก google หรือสืบค้นจากสัมมโนจากพื้นที่เขต

เมื่อเห็นภาพคู่แข่งในพื้นที่แล้ว พบว่ามีร้านเป็นสิบร้าน แต่ละร้านมีจุดต่างอย่างไร? ร้านต้องออกแบบบริการของตนเองให้มีจุดเด่น ที่สามารถตอบโจทย์บทสนทนาที่มากกว่าปกติที่เมื่อคนไข้เดินเข้ามาร้านยา คนไข้จะถามมียา x มั๊ย ราคาเท่าไหร่? เมื่อไม่ได้ราคาตามต้องการก็เดินออก

ที่สำคัญ เภสัชกรร้านยาเองก็ต้องสู้กับความเป็นจริงของการให้บริการด้วยว่า  ไม่มี Pharmacist fee

Sales Funnel : การกรองคนที่เข้ามารับบริการกับเรา

จากร้านที่เรากางวงเวียนไปในรัศมีจากร้านเรา จำนวนหัว คนสัญจร  อย่างกรณี 7-eleven สมัยก่อน ถ้าคนเดินผ่านหน้าร้านไม่เกิน 15,000 คนต่อวันจะไม่ยอมให้เปิดร้าน เมื่อก่อนเค้าจ้างนักศึกษานับเลยด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ไม่ต้องนับแล้ว เมื่อก่อนต้อง prove success แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง prove success ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เพราะว่า เมื่อก่อน ต้อง prove ว่าทุกร้านต้องมียอดขาย เพราะรายได้หลักมาจากยอดขายในร้าน  แต่เดี๋ยวนี้การเอาของเข้า SKU ต้องมีค่าแรกเข้า …. ราคาปีหน้าคือ 1 ล้านบาท ปีนึงมีสินค้าใหม่ 200 – 300 SKU จาก 10,000 สาขา นั่นคือ มีรายได้ขั้นต่ำอยู่แล้ว 2-3 ร้อยล้านบาท

การเปิด 7-eleven ยุคนี้ จะอยู่รอดหรือไม่รอด นั่นเป็นทางเลือกของเจ้าของ (ตอนนี้ใครเปิด 7-eleven คือ ไปช่วย CP มากกว่าสร้างรายได้ดีให้ตนเอง)

วงกลับมาที่ Sales Funnel ข้อมูลประชากรศาสตร์ มีอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะสามารถเข้าถึงมันได้หรือไม่ หรือ ดูบ้านเลขที่ นับจำนวนคน จำนวนรถ เพื่อดูว่า คนในพื้นที่มีเท่าไหร่

จากนั้นดูว่า คนที่ต้องการสินค้า healthcare มีมากเท่าไหร่

คนเดินเข้าร้านเท่าไหร่

ลูกค้าจริงเท่าไหร่

ลูกค้าที่ซื้อประจำเท่าไหร่

จาก 50,000 คน ทั้งหมด เราจะได้ทราบว่า ลูกค้าหลงหายในขั้นไหน

ในทางปฏิบัติ ก็ให้ไปแก้ปัญหาตรงนั้น เช่น มีคนแต่ไปร้านคนอื่น อาจเพราะทำเลเราไม่ดีหรือไม่. หรือ มาแล้วแต่ไม่แนะนำร้านเรา.

ถ้าเข้าใจ Sales funnel

ถ้าตัวเลขเป็นตามนี้ … ปรับขั้นที่ 1 ให้คนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น

การวิเคราะห์ตัวเลข จึงมีส่วนสำคัญต่อการวางกลยุทธ์

เริ่มต้นที่เป้าหมาย

ทุกร้านมีเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย เงินจำนวนที่ทำให้ร้านอยู่ได้ หรือ การขยายสาขา จุดสำคัญที่สุดคือ ถ้ามีเป้าหมายแล้ว จะทำอย่างไรให้ถึงเป้า การวางกลยุทธจึงสำคัญ จึงไปลองดูตลาด Modern trade เพื่อเทียบเคียงกลยุทธ์ และภาพต่อไปนี้คือ กลยุทธ์แนะนำจากการทบทวนการดำเนินงานของ Modern trade

  1. สร้างพันธมิตรกับคู่ค้า
  2. สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะ
  3. สร้างความพึงพอใจเกินคาดหมาย ณ จุดบริการ

การสร้างพันธมิตรกับคู่ค้า 

ไม่ใช่ว่า modern trade ทุกแห่งจะประสบความสำเร็จในเมืองไทย เช่น carfour เป็น modern trade ที่ใหญ่ แต่สุดท้ายต้องปิดตัวไปเพราะเหตุใด

  • เพราะขาดข้อแรก การสร้างพันธมิตรกับคู่ค้า (supplier) เพราะ Carfoure มีกฎเหล็กของเค้าคือ จะไม่ซื้อสินค้าอันดับหนึ่ง (ถ้าเป็นยาสีฟันก็เช่น คอลเกต) จะซื้อแต่อันดับ 2,3,4 เพราะกำไรมากกว่า (เพราะมั่นใจในเครือข่ายของตัวเองเหนือ brand ของสินค้า) แต่กลายเป็นว่าแนวคิดนี้ไม่เป็นจริงในไทย

ดังนั้น เวลา sale เดินเข้าร้าน ถ้าคุยกันดีๆ เมื่อเค้ามี deal อะไรก็เอามาสนับสนุนเรา

การสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

เช่น เชี่ยวชาญด้านสารอาหาร หรือโรคเฉพาะ  จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจจากการซื้อ : คนงานก่อสร้าง ยอมเดินไกลกว่า สำหรับสินค้าเหมือน กัน ราคาเหมือนๆ กัน ลองไปสอบถามได้คำตอบว่า ร้านนั้นไหว้ผมทุกครั้ง พอเดินไปร้านนี้ รู้สึกหัวใจพองโต และสำคัญสำหรับเค้ามาก การบริการจึงเป็นศิลปะ ว่าจะโดนเค้ามั๊ย

 

Case study 7-Eleven เรื่อง Door location

ย้ายประตูแล้วยอดขายดีขึ้น ประตูอยู่ตรงหัวมุมยอดขายดีขึ้น

Theme และการนำเสนอตัวเองของ Modern trade

เห็น theme สี เห็นราคา

เนื้อหมู องุ่น ทุกคนรู้จัก ทำไมต้องลงโฆษณา  เค้าพยายามนำสิ่งที่สดมากๆ มาให้ดู

การขายให้ขายได้ ให้ขายจาก emotion มากกว่า rational

การตัดสินใจซื้อของคน มาจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล

อย่างอาหารเสริม ใส่เหตุผลเยอะ คนไม่ได้สนใจ แต่จะสนใจจะซื้อเมื่อมันตอบโจทย์เค้า

อย่างกรณีวันแม่ หลายบริษัทออกหนังโฆษณาวันแม่ แต่การโยงอารมณ์จากวันแม่ไปสินค้าเป็นศิลปะของแต่ละบริษัท เช่น ไฟเซอร์ ออกหนังโฆษณา แม่ไม่มีวันหมดอายุที่จะดูแลลูก – วัคซีน IDT

ลักกี้เฟรม – เตาแก๊ส – วันแม่ – ทำหนังให้เด็กนักเรียนพูดถึงแม่ แม่มาวันแม่ไม่ได้ แม่ไม่สนใจ ทำไข่เจียวไหม้ แต่แม่ไม่อยู่แล้ว แต่อาหารรสไหม้นั้น คิดถึง …. สรุป อาหารที่แม่ทำติดใจที่สุด มีการแชร์ไป 4 ล้านกว่าวิว

กรณีร้านขายยา ออกแบบ theme และนำเสนออย่างไรให้ร้านยาคนอยากเข้า

ภาพร้านยารุ่นใหม่ เรานึกถึงบริการแบบใด

ภาพร้านยารุนเก่า เรานึกถึงยากลุ่มไหน 

แม้แต่ร้านยาสมุนไพร เราก็ทำให้ดูทันสมัยได้

เรามีอะไรเป็นสื่อบอก สำหรับสินค้าใหม่ (ในส่วนบริการตนเองของคนไข้)  ก็ควรจะมีสิ่งบอก ไม่ว่า Standee, Shelf talker, Wobler

Shelf management : เรามีโปรแกรมนี้มากว่ายี่สิบกว่าปีแล้ว นักจิตวิทยาคิดมาให้แล้ว ว่าระดับสายตาขายดีที่สุด คำนวณเป็น % แต่ละชั้นได้เลย รวมทั้งด้านซ้ายจะขายดีกว่าด้านขวา

เราจะเอาสินค้าอะไรโชว์บนชั้นสินค้าขายดี : สินค้าขายดีอยู่แล้ว หรือ สินค้าใหม่ที่ยังขายไม่ดี? คำตอบคือ อย่าไปขวางกระแส ให้เอาสินค้าขายดีไว้ที่ที่ลูกค้าเห็น

จำนวน ควรวางกี่ขวด ขึ้นกับอะไร (shelf facing) ควรจะวางจากอะไร คำตอบคือ จาก market share ในร้านของเรา เช่น ยาน้ำแก้ไอ มี 5 ชนิด จะวาง 2 ขวดทุก brand หรือ วางตาม marketshare … เรียงจากซ้ายไปขวา

ขอให้ทำ research

บางร้านก็ไม่ได้ทำเป็นเรื่องเป็นราว จริงๆ ทำไม่ยากทั้ง  1′ market research , 2′ market research

แยกให้ออกว่าข้อมูลแบบไหนทำ  Qualitative หรือ Quantitative

Quailtative ถามแค่อยากรู้ trend แค่ 4-8 คน ก็รู้ละ เช่น อยากหาจุดเด่นของร้าน แล้วหาดูว่า อะไรที่คล้าย ๆ กัน มาสรุปก็รู้ละ

Quantitative วัดเป็น % ได้ เช่น ความพึงพอใจที่มีต่อร้านคุณ ทำเป็นสเกล แล้วให้ลูกค้ากรอก แค่ 20-30 คน ก็รู้แล้ว

ประโยชน์ เช่น ดู trend , Intelegence report , ราคา, หลากหลายของสิ่งที่เราไม่รู้ก็จะรู้ทันที จ้างเด็กหน้าร้านก็ได้ เช่น เดินผ่านหน้าร้านบ่อยขนาดไหน ทำไมถึงไม่ค่อยเดินเข้าร้านนี้

ทำไม modern trade ถึงไม่เกิด price war เช่น บูธ  เพราะหลักการของเค้าคือ โปรโมชั่นจะต้องมีราคาพิเศษได้แค่บางไอเทม ลดราคากัน เป็นช่วงๆ ให้ลูกค้าทำนายไม่ได้ … ทำแล้ว พิสูจน์แล้ว

กรณีศึกษา Restaurant Impossible …. ร้านไหนใกล้เจ๊ง ก็จะมาพัฒนาให้ ส่วนใหญ่ดีขึ้น ผลของการทำคือ ร้านส่วนใหญ่ที่เจ๊ง คือ ร้านที่ไม่มีข้อมูล ไม่รู้ต้นทุน ยิ่งขายิ่งเจ๊ง ข้อมูลจึงสำคัญ

Customer satisfaction . ลูกค้าที่ไม่พอใจ พูดเยอะ ไม่จำเป็นต้องไปอารมณ์เสียกับลูกค้าที่ไม่มีเหตุผล

ลูกค้าพี่พอใจ จะมีน้อยๆ เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

โจทย์คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ Service delivery > Customer expectation (แต่อย่ามากเกินไป เพราะมันเลื่อนได้ ให้เพิ่มอีกนึดนึงๆ ไปเรื่อยๆ )

กล่าวโดยสรุปคือ  ให้ร้านยา พัฒนาความสัมพันธ์กับ supplier ช่วยกันพัฒนา category และเพิ่มความพึงพอใจ ณ จุดขายของผู้บริโภค


ภญ.กัญญณัช ศิระเกล้า : การประยุกต์ใช้การตลาดสำหรับร้านยา

“ทำร้านยาและให้ความรู้ด้วยหัวใจ”

FB_IMG_1534557557108

บทสรุปตรงจากผู้บรรยาย

“กลยุทธ์การตลาด สำหรับร้านยาในนาทีนี้..ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของConsumers หรือ Patients(จากการ สำรวจ พบว่า เกิดพฤติกรรมใหม่”6นิยม”)และ ความดุเดือดของ Giant competitors ที่กระโดดมาลงทุนในตลาดร้านยาอย่างรุนแรง แต่ยังมีสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ & ความกดดันด้านพระราชบัญญัติยา และ แนวทางปฏิบัติทางเภสัชกรรม (GPP) ที่ก็กระทบให้เราต้องปรับตัว ปรับใจอย่างหนักด้วย”
“📍 วิทยากร นำเสนอแนวคิด ว่า เภสัชกรผู้ประกอบการ น่าจะกลับไปทบทวน(Vison)วิสัยทัศน์ของตน ,เป้าหมาย & นโยบายของร้าน(Corporate goal& policy) อีกครั้ง ก่อนที่จะกำหนด แผนการตลาด และยุทธศาสตร์ต่อไป โดย ยุทธศาสตร์การแข่งขันในธุรกิจ มีทั้งแบบฟ้าครามสดใส (Blue ocean strategy) แบบเลือดเดือด (Red ocean strategy) และ แบบที่ ผู้ประกอบการมี Passion ที่จะมุ่งเป้าธุรกิจไปอย่างสมดุล ของการเพิ่มกำไรของธุรกิจ(Profit) ในขณะที่คำนึงถึงพนักงาน ลูกค้า และคนในสังคม(People) ในขณะเดียวกันก็ปกป้องสิ่งแวดล้อมของร้าน สังคม และโลก(Planet) ด้วย ที่ เรียกว่า “White ocean strategy”
✨วิทยากรได้แบ่งปัน ส่วนประสมทางการตลาด ที่ท่านใช้กับร้านของตน เรียกว่า “4Ps- White Ocean Pharmacy”

ตลอดมา วิทยากร จะสร้างกำไรโดยตั้งราคาสินค้าแบบ”เราอยู่ได้ ก็พอ!” ตามคำสอนของคุณแม่ ผู้ก่อตั้งร้านยาสาขาแรก แม้ เราจะเป็นผู้ประกอบการร้านยารายแรกๆของชุมชนก็ตาม (แต่วิทยากรต่อรองกับคุณแม่ขอตั้งราคาแบบที่ต้องCompetitive กับ คู่แข่งรอบร้านด้วย^^) และนำกำไรส่วนหนึ่งมาช่วยชุมชนโดยการสร้างห้องสมุดภาษาอังกฤษ และสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กในชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และ วิทยากรชื่นชมร้านHealthyMax ของรุ่นพี่เภสัชกรสถาบันเดียวกัน ที่เปิดร้านโดยมอบกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแก่รพ.ศิริราช อย่างยิ่งและใช้เป็นแนวทางธุรกิจของตนด้วย(Profit)
วิทยากรได้พัฒนาตนเองด้านวิชาการ เพิ่มทักษะต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการทางเภสัชกรรม ,ถ่ายทอดวิทยายุทธ์แก่นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ที่มาฝึกงานต่อเนื่องเกือบ 8 ปี และให้ความรู้ด้านสุขภาพและยาแก่คนในชุมชน ต. ท่าอิฐ เสมอมา(People) ในขณะเดียวกันก็ช่วยชุมชนรอบๆร้าน เมื่อเกิดอุทกภัย การระบาดของโรค ลดการใช้ถุงพลาสติก เพิ่มการใช้ถุงผ้า บริจาคถุงผ้าแก่โรงพยาบาลหลายแห่ง และ มีการแยกขยะจากร้าน ของตน และสอนให้คนในชุมชนแยกขยะด้วย(Planet)
วิทยากรเชื่อมั่นว่า การดำเนินธุรกิจด้วยใจ อย่างสมดุล และมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคดุเดือดใดๆ คือ“Passionสีขาว”นี้ จะสามารถทำให้ ร้านยาของตน และเพื่อนเพื่อนพี่น้องอยู่ได้และยั่งยืน ด้วย

 

 

……………………………………………

ส่วนตัว รู้สึกเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมการบรรยายในครั้งนี้ที่ถูกจัดขึ้นโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในหัวข้อ “Pharmapreneure” เป็นการสร้างหัวข้อที่มีประโยชน์ เป็นเรื่องใหม่ น่าสนใจ สร้างแนวทางการบริบาลทางเภสัชกรรมและการทำธุรกิจด้านยาที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นเภสัชกรจริงๆ อยู่ได้  ซึ่งผมเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเภสัชกรจะถอดบนเรียนของวันนนี้นำไปใช้ รวมทั้งและคณะเภสัชศาสตร์ต่างๆ สามารถนำเรื่องนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ที่จะทำให้น้องๆ เภสัชกรรุ่นใหม่เปิดงานด้านงานบริบาลเภสัชกรรมที่ดีและสามารถยั่งยืนอยู่ได้ ภายใต้จุดเปลี่ยนของวงการเภสัชกรรในยุค 4.0

#เภสัชกรกลางตลาด #เภสัชกรการตลาด

พูดคุยกับผู้เขียนเพิ่มเติมได้ที่เพจ เภสัชกรการตลาด : http://www.facebook.com/mktpharmacist

Leave a comment